รื้อใหญ่…แผนวัคซีน ดิ้นจัดซื้อเพิ่ม-เร่งฉีดฝุ่นตลบ

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาไม่น้อยสำหรับการกระโดดลงมาบัญชาการรบด้วยตัวเองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ที่มีคำสั่งพิเศษให้ทีมงานเฉพาะกิจที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าชุด ในการเร่งหาวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีก 20-25 ล้านโดส ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่สำคัญคือไม่ผ่านการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นกุญแจหลักในการจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่ต้น

เบื้องต้น วัคซีนที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นเป้าหมายในครั้งนี้มีทั้ง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, แอสตร้าเซนเนก้า และสปุตนิก

ดีลครั้งสำคัญนี้คาดว่าจะเป็นลักษณะ vaccine swap ที่เป็นการยืมหรือซื้อต่อจากประเทศที่มีวัคซีนอยู่เป็นจำนวนมาก หรือดีลกับตัวแทนจำหน่ายที่มีวัคซีนลอตใหญ่อยู่ในมือ

ถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำเรื่องนี้ผ่านการบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษของสำนักโฆษก ที่ทำเนียบรัฐบาล (29 กรกฎาคม) ถึงความพยายามในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมครั้งนี้ว่า “…ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศและภาคธุรกิจไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิต ว่าสามารถเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ ให้ถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลอีกทาง นอกจากทางรัฐและกระทรวงสาธารณสุขจัดหา”

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการปรับรื้อแผนวัคซีนครั้งใหญ่ ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการสู้กับ โควิด-19 ที่กำลังเกรี้ยวกราดและกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างหนัก

หนทางเดียวที่จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับคืนมาได้ คือ การมีวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ขณะที่ แผนการบริหารจัดการวัคซีนของ สธ. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ตั้งแต่เรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่เข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ ความหละหลวมในการทำสัญญา รวมทั้งความล่าช้า โดยเฉพาะการได้รับวัคซีนที่ไม่ทันกาล จนทำให้การสู้กับโควิด-19 เพลี่ยงพล้ำ โดยเฉพาะแผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและห่างเป้า โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ทำได้เพียงราว ๆ 4-5 ล้านโดส และ 7-8 ล้านโดส จากเป้า 6.3 ล้านโดส และ 10 ล้านโดส ตามลำดับ

ถึงวันนี้ (2 สิงหาคม) การเร่งฉีดทำไปได้เพียง 18.19 ล้านโดส จากเป้าที่ตั้งว่าจะฉีดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรทั้งประเทศ ภายในสิ้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้ มีการประกาศปิดจุดให้บริการวัคซีนนอกสถานพยาบาล 25 แห่งทั่วกรุงเทพฯ โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ว่า “ในเดือน ก.ค. ดำเนินการฉีดแล้วประมาณ 7 แสนโดส เฉลี่ยวันละ 8 หมื่นคน แต่ประสบปัญหาวัคซีนไม่มาตามนัด ทำให้ศูนย์ฉีดวัคซีนหลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว”

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่พิจารณาให้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในเดือน ส.ค. เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้รับวัคซีน 1,250,000 โดส ซึ่งจะส่งไปรายสัปดาห์ เพื่อให้มีการฉีดอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 1.สำนักอนามัย กทม. จำนวน 500,000 โดส 2.จุดบริการวัคซีนนอกสถานพยาบาล 25 จุด รวม 750,000 โดส ซึ่งมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการจัดส่งวัคซีนไปที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ในเดือน ส.ค.จะส่งไปตามอัตราการฉีด โดยขณะนี้มีการลงทะเบียนจองคิวสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ยวันละ 5,000-10,000 คน นั้น

ล่าสุด (3 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.เข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรวัคซีนส่งตรงให้ 25 ศูนย์ฉีดนอกสถานพยาบาล ซึ่ง นายอนุทิน ได้หารือกับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. มีข้อสรุปว่า จำนวนวัคซีนเดิม 750,000 โดส ที่จะต้องส่งให้ กทม.กระจายลงจุดฉีดวัคซีน 25 ศูนย์วัคซีนเปลี่ยนเป็นให้ กรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนโดยตรง ไม่ต้องผ่าน กทม.

โดยให้ส่งไปยังศูนย์วัคซีนฯ ทั้ง 25 แห่ง เฉลี่ยแห่งละ 1,000 โดสต่อวัน ซึ่งรวมทั้ง 25 จุดแล้ว จะฉีดได้ 25,000 โดสต่อวัน โดยตลอดเดือน ส.ค. จะฉีดได้ทั้งหมด 750,000 โดส ซึ่งใกล้เคียงกับความสามารถในการฉีดของทั้ง 25 ศูนย์วัคซีนฯ ส่วนวัคซีนอีก 500,000 โดส จะส่งไปยังสำนักอนามัย กทม.เช่นเดิม เพื่อจัดสรรไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ การส่งวัคซีนของกรมควบคุมโรคเป็นไปตามคำสั่งของ ศบค.ที่หารือร่วมกับ กทม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และมีซิโนแวคเพียงบางส่วน และจำนวนวัคซีนดังกล่าวไม่รวมกับโควต้าของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ที่เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนวันละ 20,000 โดส

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ก่อนหน้านี้ สธ. ได้เจรจาจองวัคซีนสำหรับปี 2564 ไว้แล้ว 105.5 ล้านโดส ประกอบไปด้วย แอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนหลักที่ใช้ในการสู้กับโควิด-19 จำนวน 61 ล้านโดส ขณะนี้ส่งมอบแล้วประมาณ 7.14 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบเดือนละประมาณ 5-6 ล้านโดส

นอกจากนี้ ยังมียอดบริจาคอีก 1.05 ล้านโดส , ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 11.5 ล้านโดส และบริจาค 1 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จะเข้ามาบางส่วนในไตรมาส 4 ปีนี้ และบริจาค 1.5 ล้านโดส และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส

สำหรับการฉีดในเดือนสิงหาคมนี้ ล่าสุด สธ.ได้เริ่มกระจายวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส พร้อมปรับแผนโดยจะเร่งระดมฉีดในต่างจังหวัดมากขึ้น จากช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การกระจายวัคซีนกระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล นอกจากนี้ สธ. ยังย้ำว่า จะได้วัคซีนมากกว่า 10 ล้านโดสขึ้นไป

โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ที่การแพร่ระบาดยังรุนแรง จะได้รับวัคซีนที่มากขึ้น ขณะที่พื้นที่ กรุงเทพฯ ก็จะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง แต่จำนวนจะน้อยลง เหลือประมาณ 1 ล้านโดส

ส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ จำนวนกว่า 1.5 ล้านโดส ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาบริจาค ที่เริ่มทยอยจัดส่งไปในทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป หลัก ๆ จะเป็นการกระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจำนวน 700,000 โดส เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่เคยฉีดมาแล้ว 2 โดส

ขณะที่อีก 645,000 โดส จัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเรื้อรังจะให้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีเด็กน้ำหนักเกิน เด็กอ้วน หรือมีโรคเบาหวานตั้งแต่กำเนิด มีภาวะโรคหัวใจ โรคไต รวมทั้งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์

ส่วนอีก 150,000 โดส จะเป็นโควตาสำหรับ ชาวต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยที่เป็นผู้สูงอายุและป่วยโรคเรื้อรัง หรือคนท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ รวมทั้งคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ อีกประมาณ 5,000 โดส จะเป็นการกันไว้สำหรับการทำวิจัย และอีกกว่า 3,000 โดส จะเป็นการกันไว้สำหรับพื้นที่ระบาดใหม่

จากนี้ไปวัคซีนจะมาตามนัดหรือไม่ การปูพรมฉีดจะทำได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ยังต้องลุ้นกันต่อไป

เดือนละ 5-10 ล้านโดส เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว !