สปีดยอดขายโค้งท้าย “ทีวี ไดเร็ค-ซีพี” โปรยงบฯ

อาจจะไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาเมื่อตัวเลขโฆษณา 10 เดือนแรกปีนี้ติดลบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ช่วงโค้งท้ายปีนี้ก็กลายเป็นอีกความหวัง เมื่อสินค้าเริ่มกลับมาใช้งบฯโฆษณาอีกรอบ

บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานการใช้งบฯโฆษณา 10 เดือนปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2560) มีมูลค่ารวม 83,854 ล้านบาท โตลดลง 9.04% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ประกอบด้วย ช่องเก่า 33,937 ล้าน ลดลง 16.92% เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม 2,492 ล้าน ลดลง 17.13% ทีวีดิจิทัล 18,015 ล้าน เติบโต 2.20% วิทยุ 3,630 ล้าน ลดลง 18.10% หนังสือพิมพ์ 6,397 ล้าน ลดลง 21.66% นิตยสาร 1,622 ล้าน ลดลง 34.96% สื่อในโรงภาพยนตร์ 5,630 ล้าน โต 23.03% สื่อนอกบ้าน 5,219 ล้าน โต 11.90% สื่อเคลื่อนที่ 4,903 ล้าน ลดลง 12.79% สื่อ ณ จุดขาย (in store) 761 ล้าน โต 29.64% สื่ออินเทอร์เน็ต 1,247 ล้าน ลดลง 13.40%

สำหรับงบฯโฆษณาเดือนตุลาคมปีนี้ มีมูลค่ารวม 4,969 ล้านบาท ลดลง 11.94% ประกอบด้วย ช่องเก่า 1,442 ล้าน ลดลง 22.85% เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม 167 ล้าน ลดลง 1.18% ทีวีดิจิทัล 961 ล้าน โต 1.16% วิทยุ 224 ล้าน ลดลง 22.76% หนังสือพิมพ์ 572 ล้าน ลดลง 21.96% นิตยสาร 137 ล้าน ลดลง 42.19% สื่อในโรงภาพยนตร์ 517 ล้าน โต 44.01% สื่อนอกบ้าน 493 ล้าน โต 4.89% สื่อเคลื่อนที่ 348 ล้าน ลดลง 18.69% สื่อ ณ จุดขาย (in store) 23 ล้าน ลดลง 34.29% สื่ออินเทอร์เน็ต 85 ล้าน ลดลง 17.48%

ทั้งนี้ 5 บริษัทแรกที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุดในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้ง จำกัด ใช้งบฯ 3,228 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ 4,211 ล้าน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ใช้งบฯ 1,686 ล้าน ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ 1,924 ล้าน บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด ใช้งบฯ 1,570 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ 1,509 ล้าน บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ใช้งบฯ 1,147 ล้าน ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ 1,416 ล้าน และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ใช้งบฯ 1,144 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ 1,133 ล้านบาท

หากเจาะเฉพาะเดือนตุลาคมปีนี้พบว่า แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาของแต่ละแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 5 แบรนด์ที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุด คือ ทีวี ไดเร็ค 127 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ 9 ล้าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ใช้งบฯ 74 ล้าน จากปีก่อน 23 ล้าน โตโยต้า วิช ใช้งบฯ 68 ล้าน จากปีก่อนใช้ 29 ล้าน ธนาคารออมสิน 64 ล้าน จากปีก่อน 27 ล้าน และเทสโก้ โลตัส ใช้งบฯ 58 ล้าน จากปีก่อน 27.9 ล้าน