ฟาวิพิราเวียร์ขาด ต้องให้เอกชนช่วยผลิตหรือไม่ ? องค์การเภสัชฯ แจง

ดร.ภญ.มุกดาวรรณ แจงดราม่ายาฟาวิ
ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

อภ.เผย แผนงานนำเข้าและผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอต่อความต้องการวันละ 1 ล้านเม็ดหรือไม่ ? หลังมีกระแสกังวลว่ายาอาจจะไม่เพียงพอ

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการปรับนโยบายการรักษาตัวให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation ส่งผลให้ความต้องการของยาต้านไวรัสโควิดฟาวิพิราเวียร์ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ล่าสุด ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ต่อประเด็นดังกล่าว

ความต้องการวันละ 1 ล้านเม็ด

ดร.ภญ.มุกดาวรรณ กล่าวว่า เดือนนี้ (ส.ค.) จะนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ประมาณ 79 ล้านเม็ด เดือนหน้าอีก 40 ล้านเม็ด และนอกจากการนำเข้าแล้วยังมีการผลิตเองอีกด้วย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นำเข้ามาอีก 5.3 ล้านเม็ด และได้กระจายไปแล้วทั้งในส่วนของ กทม., ปริมณฑลและภูมิภาค และยังมีส่วนที่นำเข้ามาอีก 6.6 ล้านเม็ด และถ้าดูยอดของการใช้ยาซึ่งต้องกระจายวันละ 1 ล้านเม็ด ใน 4 วันที่ผ่านมา ก็นำเข้ามาแล้วกว่า 11 ล้านเม็ด ซึ่งมากกว่าความต้องการยาในตอนนี้

เปิดตัวเลขนำเข้า-ผลิตเอง ส.ค.-ก.ย.

ดร.ภญ.มุกดาวรรณกล่าวอีกว่า อภ.ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะฉะนั้นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (PHEOC) จะประมาณการโดยการทำงานร่วมของกรมควบคุมโรคและส่วนกลางจะมีค่าประมาณการออกมาให้ และ อภ.จะทำการจัดหาตามตัวเลขที่ได้มา ถ้าเป็นวันละ 1 ล้านเม็ด 1 เดือนก็จะ 30 ล้านเม็ด ซึ่งตอนนี้ประมาณการเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นภายใน 2 เดือนนี้ (ส.ค.-ก.ย.) เราจะจัดหาให้ได้ 120 ล้านเม็ดที่นำเข้า และ 23 ล้านเม็ดที่ผลิตเอง

ในส่วนกลางคาดการณ์ว่า เดือน ต.ค.-ธ.ค. คาดการณ์ว่าให้ผลิตและจัดหาให้ได้เดือนละ 100 ล้านเม็ด หากดูจากตัวเลขตอนนี้วันละ 1 ล้านเม็ด เราต้องจัดหาเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งเราจะนำเข้าแทบทุกวันจากสายการบินที่นำเข้าเพราะบริษัทยาจำหน่ายไปทั่วโลก แต่จริง ๆ แล้วเราก็อยากได้ยามาเป็นก้อน แต่มันไม่ได้ เราจึงนำเข้าแทบทุกวันแทน

นำเข้าจากที่ไหนบ้าง

ดร.ภญ.มุกดาวรรณเปิดเผยว่า นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ จากประเทศอินเดียเป็นหลัก เพราะราคายาของประเทศญี่ปุ่นแพงกว่า ส่วนใหญ่ช่วงนี้จึงนำเข้าจากประเทศอินเดีย แต่ก่อนหน้านี้มีประเทศจีนด้วย โดยขึ้นอยู่กับช่วง เพราะปลายสัปดาห์ที่แล้วจะนำเข้าจากประเทศจีน แต่พอของหมด เราก็ต้องหาผู้ขายใหม่ที่น่าเชื่อถือ มีการศึกษาวิจัยที่สมบูรณ์ แต่ยาของเราเองก็ผลิต สัปดาห์ที่แล้วส่งออกไป 6.4 แสน สัปดาห์นี้อีก 5 แสนกว่าเม็ด

กำลังผลิตของ อภ.

ดร.ภญ.มุกดาวรรณกล่าวว่า ในเดือน ส.ค. เราผลิตได้ 2.5 ล้านเม็ด พอเดือน ก.ย. เราจะผลิตได้อีก 23 ล้านเม็ด ยืนยันว่าเดือน ส.ค.-ก.ย. มียาเพียงพอแน่นอน ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเดือน ต.ค. ได้ซื้อวัตถุดิบมาแล้ว เตรียมโรงงานใหม่ ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านเม็ดต่อเดือน

ดร.ภญ.มุกดาวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานผลิตยาใหม่นี้ สามารถรองรับกำลังการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งสามารถผลิตได้ถึง 160 ล้านเม็ดต่อเดือน เพราะวางแผนมาเป็นเวลาปีกว่าแล้ว โรงงานใหม่นี้ตั้งอยู่ที่ ธัญบุรี คลอง 10 ซึ่งที่ผ่านมาเราผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเดือน ส.ค. และ ก.ย. จากโรงงานทั้ง 2 แห่ง คือพระราม 6 และธัญบุรี แต่ที่ธัญบุรีกำลังการผลิตเยอะกว่าเพราะมีสายการผลิตดี อีกทั้งยังได้การรับรองจากองค์การอนามัยโลกที่เจนีวา อีกทั้งที่ธัญบุรีเราผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาโรคเรื้อรังและยาอื่น ๆ อีก 30 รายการ

ต้องกระจายกำลังผลิตไปที่โรงงานเอกชนหรือไม่ ?

ดร.ภญ.มุกดาวรรณเผยว่า ได้มีการประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข อย. และตัวแทนจากผู้ผลิตภาคเอกชน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. มองว่าวิธีการผลิตยา ผู้ที่พัฒนาสูตรจะมีข้อมูล สถานที่ และเครื่องมือเครื่องจักร และมีวิธีการของการกำหนดปริมาณวัตถุดิบและอุปกรณ์ กว่าจะได้ขึ้นทะเบียน เราพัฒนามาตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2563 ซึ่งเป็นเวลาปีกว่า การที่ อย. ให้ทะเบียนแสดงว่ายอมรับกระบวนการผลิตว่าพร้อมและได้มาตรฐาน

ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ สั่งซื้อวัตถุดิบเองก็ใช้เวลาเดือนกว่า ในการขนส่งทางเครื่องบินมา ในส่วนยาโรคเรื้อรังอื่น ๆ ซึ่งเอกชนแต่ละบริษัทก็มีทะเบียน ทุกคนก็ช่วยกันในประเทศ ใช้ความสามารถเฉพาะที่ตัวเองมี ผลิตในส่วนนั้น น่าจะเป็นความปลอดภัยและเร็วที่สุดในการจัดหา

กระแสยาขาดจากหน่วยงานแพทย์

ทางพิธีกรรายการกล่าวว่า จากที่ฟังดูก็ไม่น่ามีปัญหาขาดแคลน แต่ทำไมบรรดาผู้บริหาร รพ.ศูนย์ รวมถึงทางชมรมแพทย์ชนบท จึงบอกว่ามีปัญหายาขาดเป็นช่วง ๆ จึงแก้ปัญหาด้วยการวิ่งยืมยาระหว่างกันเป็นระยะ ทำไมจึงเกิดปัญหาเช่นนี้ถ้ายาไม่ขาด

ดร.ภญ.มุกดาวรรณตอบว่า ต้องเรียนว่าตัวเลขประมาณการเมื่อหลายเดือนที่แล้วกับตอนนี้ต่างกัน ใน 3 เดือนที่แล้วที่เราวางแผนซื้อวัตถุดิบ เราได้ตัวเลขแค่ 4 ล้านเม็ดต่อเดือน พอตัวเลขติดเชื้อเพิ่มกะทันหัน เราจึงรีบนำเข้า เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่กระทรวงสาธารณสุขและองค์การเร่งการนำเข้ามากขึ้น เพื่อแก้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน