“รพ.พริ้นซ์” ทุ่มงบขยายสาขา มุ่งอีสาน-ใต้ปูพรม 100 คลินิกเจาะชุมชน

เครือ รพ.พริ้นซ์ทุ่มลงทุนเปิดโมเดลคลินิก “ใกล้บ้านใกล้ใจ” เจาะชุมชนกรุงเทพฯ-ประกาศสยายปีกบุกต่างจังหวัด ลั่น 3-5 ปี ทะลุ 100 สาขา พร้อมเดินหน้าขยายสาขาเครือข่าย พุ่งเป้าบุกเมืองรอง โฟกัสภาคอีสาน-ใต้จับผู้บริโภคกำลังซื้อสูงไทย-ลาว-กัมพูชา ซุ่มบุกแพทย์แผนไทย เปิดวิวัฏฏะ คลินิกรับกระแส

ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลที่มีมูลค่ามากกว่า 1.4 แสนล้านบาท จะกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้ออย่างหนัก รวมทั้งรายได้จากกลุ่มคนไข้ต่างประเทศที่หายไป แต่บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุงการให้บริการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจหลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลาย โดยเฉพาะการเปิดคลินิกระดับปฐมภูมิ การขยายการให้บริการตามธุรกิจโรงพยาบาลเดิม รวมทั้งยังมีแผนการจะขยายบริการด้วยการซื้อกิจการและการสร้างโรงพยาบาลใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปรับตัวรับนิวนอร์มอล

นายธานี มณีนุตร์ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจสุขภาพเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างยิ่งในแง่ของสุขภาพที่มีความระมัดระวังตัวมากขึ้น ทั้งลดการเดินทาง ลดการสัมผัส ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลต้องปรับตัวให้สอดรับกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงนี้

สำหรับเครือ รพ.พริ้นซ์ที่ผ่านมา ได้ทยอยปรับโมเดลธุรกิจด้วยการหันมามุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทเลเมดิซีน (telemedicine) หรือการแพทย์ทางไกล ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางไลน์ในบริการ Dr.PRINC TeleHealth ได้ เพื่อความรวดเร็วและตอบโจทย์เรื่องความสะดวก รวมไปถึงการทำบริการ Dr.PRINC@Home ฉีดวัคซีนทำแผลถึงบ้าน เพื่อแก้ปัญหาความกังวลของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการออกจากบ้านมารับความเสี่ยงที่ รพ.

ปูพรมคลินิกเจาะชุมชนเมืองกรุง

นายธานีกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม แม้บริการส่วนหนึ่งจะมุ่งไปที่เรื่องของออนไลน์มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้วการรักษาพยาบาลก็จะต้องอยู่ที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลอยู่ดี ดังนั้น ทิศทางของเครือ รพ.พริ้นซ์จึงหันมาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์เข้าสู่ประชาชนและชุมชนมากขึ้น ผ่านการลงทุนขยายเครือข่ายคลินิก “ใกล้บ้านใกล้ใจ” โมเดลธุรกิจสุขภาพขนาดเล็กลง โดยจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 1-3 ล้านบาท/แห่ง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเปิดมาได้แล้วในเขตกรุงเทพฯทั้งหมด 11 แห่ง เจาะย่านชุมชน ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง

สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายเพิ่มในเขตกรุงเทพฯให้ครบ 20 แห่ง ก่อนที่จะขยายโมเดลดังกล่าวออกสู่ต่างจังหวัดให้ครบ 100 แห่ง ภายใน 3-5 ปี โดยเน้นในทำเลย่านทราฟฟิกสูงทั้งในตัวชุมชนหรือในตลาด ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของผู้คนหรือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ผู้บริโภคจะเห็นได้ง่ายและเข้ารับการรักษาได้สะดวกโดยไม่ต้องเดินทางไกล ๆ เพื่อไปโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ เบื้องต้นหากเป็นการขยายสู่ต่างจังหวัดจะเริ่มในพื้นที่ที่มีเครือ รพ.พริ้นซ์ตั้งอยู่ เช่น พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร เป็นต้น เพื่อให้สะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อต้องรักษาผู้ป่วยแบบเจาะลึกมากขึ้น หรือผู้ป่วยต้องการการรักษาที่รวดเร็วไม่ต้องรอคิว

“ที่ผ่านมาโมเดลของ รพ.พริ้นซ์เน้นการขยายไปตามต่างจังหวัดโดยเน้นไปที่เมืองรอง แต่การแตกไลน์ทำโมเดลคลินิกถือเป็นการขยายเครือข่ายเจาะกรุงเทพฯหรือเขตเมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กกว่า รพ.ค่อนข้างมาก จึงช่วยให้ขยายตัวได้เร็วและกระจายการเข้าถึงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับ รพ.ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบฯลงทุนสูง”

อย่างไรก็ตาม ด้วยคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจเป็นการร่วมมือกับภาครัฐภายใต้การปฏิรูประบบสุขภาพของประชาชน ให้เข้ารับการรักษาได้ง่ายขึ้น จึงมีทาร์เก็ตเป็นกลุ่ม B- ลงไปเป็นราคาที่จับต้องได้ ส่วนหนึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นสิทธิบัตรทองของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทางภาครัฐจัดสรรมาให้ราวสาขาละ 7,000-10,000 คน นอกจากนี้ เครือ รพ.พริ้นซ์ยังได้จับมือกับพาร์ตเนอร์โรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมผ่าน รพ.ที่อาจมีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่าคลินิก

“ตามวิสัยทัศน์ของเครือพริ้นซ์ต้องการให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงการรักษามากขึ้น ไม่ต่างจากโมเดลร้านสะดวกซื้อที่ปรับตัวเอาการแพทย์ไปใกล้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเทรนด์การรักษาของผู้บริโภคจะมาทางนี้มากขึ้น”

ขยายการลงทุนบุก “อีสาน-ใต้”

นายธานีกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ยังมีแผนจะขยายการลงทุนเปิดโรงพยาบาลเพิ่มให้ครบ 20 แห่ง ภายใน 3 ปีนี้ โดยยังคงเน้นไปที่เมืองรองโดยเฉพาะในภาคใต้และภาคอีสานที่มี รพ.ในเครืออยู่ไม่ไกลกันนัก เนื่องจากจะใช้ระบบแชร์เซอร์วิสอุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกันได้ระหว่าง รพ.ในเครือพริ้นซ์ด้วยกัน เพื่อลดต้นทุนและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากปัจจุบัน รพ.ในเครือพริ้นซ์มีทั้งหมด 11 แห่ง ใน 10 จังหวัด อาทิ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ, รพ.พริ้นซ์ อุทัยธานี, รพ.พริ้นซ์ ลำพูน, รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์

“เหตุผลที่ต้องเป็นภาคอีสานและภาคใต้ มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสการเข้าทำตลาดในจังหวัดที่ยังไม่มี รพ.เอกชน หรือจังหวัดที่อยากขยายศักยภาพของ รพ.เพิ่มเติมในรูปแบบการร่วมทุนกับเครือพริ้นซ์ ปัจจุบันตลาดโรงพยาบาลในภาคอีสานและภาคใต้ยังมีช่องทางและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ซึ่งเครือ รพ.พริ้นซ์ต้องการจะเข้าไปรองรับกลุ่มนี้ทั้งในแง่กลุ่มลูกค้าคนไทยที่มีกำลังทรัพย์ในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่งนิยมเข้ามารับการรักษาในไทย ปัจจุบันเครือพริ้นซ์ในจังหวัดใกล้ประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งกว่า 40-50% เป็นลูกค้าชาวต่างชาติอยู่แล้ว”

“วิวัฏฏะ” ลุยแพทย์แผนไทย

นายธานีกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนที่หันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและมีความตื่นตัวในเรื่องของยาสมุนไพรไทยมากขึ้น รวมทั้งแพทย์แผนไทยที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด เครือพริ้นซ์ได้เริ่มเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ภายใต้แบรนด์ “วิวัฏฏะ คลินิก” ที่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โดยผลิตยาและเวชภัณฑ์ในการแพทย์ทางเลือกเพื่อการรักษาแบบองค์รวม เช่น ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

“จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้นำศักยภาพวิวัฏฏะ คลินิกเข้ามาใช้เพื่อช่วยรองรับผู้ป่วยโควิด โดยมีการผลิตฟ้าทะลายโจร เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลในเครือ และผู้ป่วย home isolation ที่อยู่ในการดูแลของเครือพริ้นซ์ คาดว่าจากกระแสความนิยมและการเติบโตของแพทย์แผนไทยในอีก 2-3 ปี จึงเตรียมกระจายเครือข่ายวิวัฏฏะ คลินิกไปตาม รพ.ในเครือพริ้นซ์ควบคู่กับการเปิดกว้างมองหาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของพริ้นซ์ต่อไป”