“เจ้าสัว-บิ๊กธุรกิจ” คืนกำไร ลดช่องว่าง-อุดช่องโหว่ สู้โควิด

รพ.สนามพลังแผ่นดิน
แฟ้มภาพ

ปีกว่าแล้วที่ไวรัสร้ายโควิด-19 พุ่งโจมตีมวลมนุษยชาติ ก่อเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้ ทั้งคนรวย คนจนมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 อย่างเท่าเทียม หากขาดการตั้งรับที่ดีและเหมาะสม

ปรากฏการณ์ “น้ำใจ” คนไทยไม่เคยเหือดแห้ง เริ่มเห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจรายใหญ่ต่างมุ่งคืนกำไรสู่สังคม หวังลดปัญหาช่วยผู้ป่วยโควิดที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขของไทยได้อย่างน่าจะเป็น

ศรีไทยฯพลิกโกดังสู่ศูนย์พักคอย

จากโกดังคลังสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของ “สนั่น อังอุบลกุล” เจ้าของ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ย่านราษฎร์บูรณะ ได้ถูกปรับปรุงเป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยโควิด จำนวน 200 เตียง เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชนในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งให้บริการแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ภายใต้ความร่วมมือของ ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ CEO บมจ.โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH) และประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลประชาพัฒน์ พร้อมเครือข่ายสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

โดยมี วี.ไอ.พี.ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานจำนวนมาก ศูนย์พักคอยแห่งนี้หลังได้รับการพัฒนาและรีโนเวต พร้อมจัดระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานแล้ว ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ การจัดวางเตียง การระบายอากาศ สภาพแวดล้อม ระบบการดูแลความปลอดภัย การติดตั้งกล้อง CCTV สถานที่พักขยะ ทำให้บรรยากาศบริเวณโดยรอบศูนย์พักคอยดูดี ผู้ป่วยติดเชื้อเองก็มีความหวังและกำลังใจสู้ภัยโควิดต่อไป

WHA เปิดคลังสินค้า ตั้ง รพ.สนาม

บอสใหญ่ WHA Group “จรีพร จารุกรสกุล” ในฐานะผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยมโกรท (WHART) ยกพื้นที่คลังสินค้าของ WHA Mega Logistics Center ประมาณ 10,000 ตารางเมตร จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 1,300 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยประเภทที่ไม่มีอาการ และมีอาการน้อย พร้อมอำนวยความสะดวกทั้งสาธารณูปโภค ห้องอาบน้ำ ห้องน้ำ จำนวน 40 ห้อง ภายใต้ระบบความปลอดภัยที่ได้รับการดูแลจากฝ่ายปกครอง และ กอ.รมน.อย่างใกล้ชิด

โรงพยาบาลสนามสมุทรปราการรวมใจ 5 (WHA) ตั้งอยู่ในโครงการดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ ชลหารพิจิตร กม.4 เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (field hospital) เพื่อรองรับการดูแลและกักตัวผู้ป่วย COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2564

ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้โรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลสนามที่ดำเนินการอยู่ทั้ง 2 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องเร่งจัดหาสถานที่ในการจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มในแต่ละพื้นที่

เพราะทุกคนคือคนไทย เวลานี้เราต้องช่วยกันในยามวิกฤต

แสงแห่งใจ รพ.สนาม ซี.พี.

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ จำนวน 450 เตียง ย่านบางนา ประกาศเปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยโควิด และเปิดให้บริการเป็นทางการเมื่อ 9 สิงหาคม โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบิ๊กธุรกิจที่คุ้นเคย ได้แก่ นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, MQDC, เกชา ธีระโกเมน แห่งอีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์ และมูลนิธิพุทธรักษา

โรงพยาบาลสนามดังกล่าวตั้งอยู่ในซอยวัดปลัดเปรียง ถนนบางนา-ตราด กม.5 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตัวโรงพยาบาลเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ ติดระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศที่ปลอดภัยทั้งภายในโรงพยาบาล และภายนอก จำนวน 6 เต็นท์ผู้ป่วย โดยจะรับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลืองอ่อน โดยมีโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ รองรับสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้น ขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ได้ขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มอีก 60 ห้อง รวม 85 ห้อง ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการขยายโรงพยาบาลสนามในกรณีที่ผู้ป่วยอาการทรุดลง และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันท่วงที

“ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยสังคมโดยตรง โดยมีเทศบาลตำบลบางแก้ว และทางจังหวัดสมุทรปราการช่วยสนับสนุน เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีกพื้นที่หนึ่ง” นพ.อธิวัฒน์กล่าว

พร้อมติดตั้งอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระบบ oxygen โดยจัดเครื่องช่วยหายใจ (highflow) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และมีอาการเชื้อลงปอด โดยมีกลุ่มโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จัดหุ่นยนต์ส่งของ “ปิ่นโต” ที่ใช้กันตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จำนวนถึง 12 ตัว ทำหน้าที่รับส่งยา อาหาร เครื่องดื่ม และพัสดุจำเป็นแก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังนำระบบการสื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย “ไข่ต้ม Hospital” ซึ่งเป็นระบบ telemedicine ที่พัฒนาโดย “โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น” มาช่วยติดตามอาการ

ที่น่าสนใจ โถงผู้ป่วยจัดให้มีระบบปรับอากาศที่จ่ายลมเย็นที่เป็นอากาศที่ผ่านการกรองอากาศจากภายนอก 100% หรือ all fresh air โดยอากาศที่จ่ายให้ผู้ป่วยทุกคนมาจากภายนอกอาคาร นำมาผ่านการกรองให้สะอาดและทำให้เย็น การจ่ายความเย็นจะจ่ายที่เตียงผู้ป่วยแต่ละเตียงโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมความสะอาดและทิศทางการไหลของอากาศจากปลายเตียง และถูกดูดออกด้วยพัดลมระบายอากาศที่หัวเตียง

ดังนั้น อากาศที่ผู้ป่วยแต่ละเตียงได้รับจะไม่ใช่อากาศหมุนเวียนมาจากพื้นที่อื่น ๆ ภายในอาคาร

ความดันอากาศของโรงพยาบาลได้ออกแบบให้มีความดันเป็นลบ เพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย อากาศก่อนปล่อยออกจะถูกกรองผ่าน HEPA filter ซึ่งมีประสิทธิภาพการกรอง 99.9% และฆ่าเชื้อด้วย UVGI

เสี่ยเจริญรีโนเวตโรงงานแก้ว

การเปิดพื้นที่เพื่อช่วยสังคมในยุคโควิดระบาดครั้งใหญ่ในไทย โดยใช้พื้นที่ของโรงงานแก้วของแลนด์ลอร์ด เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ในย่านราษฎร์บูรณะ รวมพื้นที่กว่า 4,800 ตารางเมตร จัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” แห่งใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของบิ๊กกับบิ๊ก ประกอบด้วย “บีเจซี บิ๊กซี และโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก” เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 150 เตียง โดยสนับสนุนคลังสินค้า บมจ.อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย (THAI GLASS) เป็นพื้นที่โรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามบีเจซี บิ๊กซี และโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก ได้รับการรีโนเวตจากตัวอาคารที่มีพื้นที่โล่ง มีหลังคาสูง มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในสถานที่ โดยกำหนดเส้นทางการเข้า-ออกชัดเจน ทั้งเส้นทางที่ปลอดเชื้อ และเส้นทางกรณีฉุกเฉิน

โดยมี พญ.เจรียง จันทรกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก เป็นพันธมิตร ในฐานะด่านหน้าและเป็นกองหนุนเพื่อระบบสาธารณสุขไทย