ถึงเวลา “คราฟต์เบียร์ไทย” บิ๊กมูฟ “บ้านนอก” บุกสะดวกซื้อ

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสของ “คราฟต์เบียร์” หรือเบียร์ที่ผลิตจากผู้ผลิตรายเล็กมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของผู้ผลิต และจำนวนแบรนด์ ที่ทยอยดาหน้าเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีร้านค้าที่เปิดขายคราฟต์เบียร์ที่หนาตาขึ้น รวมถึงบาร์เบียร์ที่ขายเฉพาะคราฟต์เบียร์ก็มีผุดขึ้นทั่วสารทิศทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยว

ถึงวันนี้ แม้ว่าสัดส่วนของคราฟต์เบียร์ยังมีไม่ถึง 1% ของตลาดเบียร์ที่มีมูลค่ากว่า 1.8-2 แสนล้านบาท แต่เบียร์พันธุ์ใหม่ก็มีทิศทางการเติบโตที่น่าติดตามไม่น้อย จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มองหาอะไรแปลกใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากสินค้าเมนสตรีมทั่วไปตามท้องตลาด ทำให้คราฟต์เบียร์ที่มีลูกเล่นจากสไตล์ที่มีอยู่จำนวนมากได้รับความนิยม เช่นเดียวกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ซึ่งผู้บริโภคถูกเอดูเคตเกี่ยวกับเบียร์หลากหลายประเภท ทำให้ตลาดไม่จำเจอยู่แค่เบียร์บางชนิดเท่านั้น

ที่ผ่านมา คราฟต์เบียร์ อาจจะยังเป็นรสนิยมเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ช่องทางจำหน่ายหลัก ๆ ก็จำกัดอยู่เพียงผับบาร์ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตบางเชน บางสาขาที่สำคัญ ราคายังสูงกว่าเบียร์ในท้องตลาดทั่วไปถึง 3-5 เท่า แต่วันนี้ คราฟต์เบียร์เริ่มขยายตัวออกไปในวงกว้างมากขึ้น

“ปณิธาน ตงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านนอกเข้ากรุง จำกัด ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยสโตนเฮด ลำซิ่งและล่าสุด “บ้านนอกเบียร์” แบรนด์น้องใหม่ที่เปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้จะมาสร้างสีสันให้กับตลาดเบียร์ในช่วงต่อจากนี้ไป ด้วยการทำให้คราฟต์เบียร์จับต้องได้ง่ายขึ้น ทั้งในด้านของราคาและช่องทางจำหน่าย

“ปณิธาน” เล่าว่า เขามีแผนจะนำบ้านนอกเบียร์เข้าไปจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง และเกิดการรับรู้ว่ายังมีเบียร์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ลาเกอร์ และยังเป็นแบรนด์ของคนไทย คาดว่าจะเริ่มวางขายได้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมนี้ เบื้องต้นจะครอบคลุมสาขาของเซเว่นฯประมาณ 50% หรือเกือบ 5,000 สาขา ส่วนราคาขายตั้งไว้ที่ 99 บาท/กระป๋อง

ราคานี้ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับคราฟต์เบียร์ด้วยกันเอง และช่วงแรกมีออกมา 2 รสชาติ คือ คิสมี เด้ดลี่ ซึ่งเป็นวีตเบียร์ และฮันนี่บอมบ์ เป็นเบียร์ไอพีเอ เน้นรสชาติที่คนไทยเข้าใจง่าย อย่างลิ้นจี่ และน้ำผึ้ง ซึ่งลอตแรกประสบความสำเร็จก็เตรียมจะเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ ตามออกมาอีก

“เราต้องการปฏิวัติวงการเบียร์ไทย วันนี้ตู้แช่ในเซเว่นฯมีแต่เบียร์ลาเกอร์เต็มไปหมด ส่วนเบียร์อื่น ๆ ก็มีแต่ของต่างประเทศไม่มีของคนไทยเลย สำหรับเราแค่บ้านนอกเบียร์ได้ไปวางอยู่ในตู้ก็ถือว่าปฏิวัติแล้ว เพราะคนจะเริ่มเห็นว่าเบียร์มันมีหลากหลาย และสนใจว่าอะไรคือเบียร์ไอพีเอ อะไรคือวีตเบียร์ ก็จะเริ่มหาความรู้และเข้าใจเบียร์มากขึ้น จากนั้นเขาก็จะไม่ดื่มแบบเดิม คือซื้อเป็นลัง ๆ กินกันจนเมา ด้วยความที่มันมีอะไรมากกว่านั้น พฤติกรรมการดื่มก็จะเปลี่ยนไป เน้นประสบการณ์ในการดื่มมากขึ้น”

หากการนำคราฟต์เบียร์เข้าไปขายในเซเว่นฯครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ คือทำให้ตลาดแมสยอมรับคราฟต์เบียร์ไทยได้ เขาก็จะนำเบียร์อีก 2 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ ทยอยเข้าช่องทางนี้ต่อไป อีกด้านหนึ่ง ความสำเร็จดังกล่าวก็จะเป็นโมเดลให้คราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์อื่น ๆ ได้เดินตาม และนำเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การเติบโตของคราฟต์เบียร์ในเมืองไทย ในสปีดที่เร็วกว่าเดิม

“ปณิธาน” ย้ำด้วยว่า ในอนาคต หากมีดีมานด์และวอลุ่มที่ใหญ่พอ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการรวมกลุ่มกันระหว่างผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยรายอื่น เพื่อตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ทั้งในแง่ของซัพพลายเชน การบริหารการผลิต และโลจิสติกส์

เขายังอธิบายด้วยว่า ปัจจุบันกฎหมายระบุการตั้งโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่จะต้องมีการผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี หรือประมาณ 1 แสนลังต่อเดือน หรือหากเป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก ที่ผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตนั้น (Brew Pub) ก็ต้องมีการผลิต 1 แสน-1 ล้านลิตร ต่อปี ทำให้ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กต้องไปหาโรงงานผลิตต่างประเทศ และส่งกลับเข้ามาจำหน่าย เกิดเป็นต้นทุนการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ ทำให้ราคาคราฟต์เบียร์ในปัจจุบันค่อนข้างสูง

หลังจากภารกิจเอาคราฟต์เบียร์ไทยเข้าเซเว่นฯได้แล้ว ก็ยังมีความท้าทายรออยู่อีกไม่น้อย นั่นคือการแจ้งเกิดเบียร์ตัวนี้ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมการโฆษณา และกิจกรรมทางการตลาดเอาไว้ ส่งผลให้บ้านนอกเบียร์ รวมถึงเบียร์แบรนด์อื่น ๆ หันไปใช้ช่องทางออนไลน์ รวมถึงอีเวนต์บีโลว์เดอะไลน์ในการสร้างการรับรู้แทน


อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือ บิ๊กมูฟของวงการคราฟต์เบียร์ไทยที่กำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตลาดเบียร์ !