ส.ศูนย์การค้าไทย จี้รัฐเปิดบริการ 3 ธุรกิจจำเป็นในศูนย์ฯ ลดเสี่ยงประชาชนแออัด

สมาคมศูนย์การค้าไทย เสนอรัฐทบทวนมาตรการผ่อนปรนเปิดบริการ 3 ธุรกิจจำเป็นในศูนย์การค้า พร้อมคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน, ธุรกิจสื่อสาร ไอที และร้านเบ็ดเตล็ดรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น หวังกระจายพื้นที่ให้บริการ ลดความแออัด และร่นระยะเวลาการทำธุรกรรม ลดเสี่ยงแก่ประชาชน

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความแออัดในการให้บริการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีลูกค้าต่อคิวใช้บริการธนาคารเป็นจำนวนมาก สมาคมศูนย์การค้าไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และมุ่งมั่นลดความแออัดในการใช้บริการให้ประชาชน

จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนการเปิดให้บริการ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร และร้านเบ็ดเตล็ดรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ในศูนย์การค้าเพื่อกระจายช่องทางการใช้บริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะศูนย์การค้ามีมาตรการดูแลพื้นที่ของตนเองให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมากที่สุด

โดยธนาคาร ธุรกิจไอที และร้านเบ็ดเตล็ดก็มีมาตรการเข้มข้น ผนวกกับศูนย์การค้าก็มีมาตรการที่เข้มข้นสูงสุดอีกระดับ ซึ่งถือเป็นการ Double Protection และปลอดภัยกว่าสำหรับลูกค้า อีกทั้งยังได้มีการทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรการให้แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

โดยจากสถิติการติดเชื้อของพนักงานในศูนย์การค้านั้น พบว่ามีอัตราส่วนที่ต่ำมาก เพราะมีมาตรการในการควบคุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งมาตรการป้องกันเชิงรุก Intensive Tracking บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการแยกกลุ่มเสี่ยง-กักตัว 14 วันดูอาการ-เปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

ดังนั้นสมาคมฯจึงได้ริเริ่มจัดทำ ‘แผนแม่บทมาตรการ ธนาคารและธุรกิจสื่อสาร สะอาด มั่นใจ’ กว่า 26 ข้อปฏิบัติ ที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยมุ่งหวังเพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัด และลดเวลาการใช้บริการของประชาชน หากภาครัฐผ่อนปรนให้เปิดให้บริการได้ ดังนี้ พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (Sinovac 2 เข็ม, Astrazeneca หรือวัคซีนอื่น ๆ อย่างน้อย 1 เข็ม)

ก่อนเข้าทำงาน พนักงานทุกคนต้องตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit และมีผลเป็นลบ โดยผลตรวจต้องไม่เกิน 3 วัน หลังจากนั้นจะต้องตรวจหาเชื้อโดยวิธี Antigen Test Kit เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ บันทึก และประเมินประวัติของพนักงานทุกคน ทุกวัน, เข้มงวด ห้ามพนักงานจับกลุ่ม หรือนั่งทานอาหารร่วมกัน และพนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือหน้ากากอนามัย และ Face shield ตลอดการให้บริการ

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ลูกค้าลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ จำกัดจำนวนคน 1 คนต่อ 5 ตร.ม. และลดความแออัด 100% Social Distancing จัดให้มีเจ้าหน้าที่นับและควบคุมจำนวนลูกค้าหรืออุปกรณ์ในการนับจำนวนลูกค้าให้เป็นไปตามกำหนด ควบคู่กับการส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Banking จัดบริการถุงมือพลาสติกสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ ขณะที่ธนาคารงดให้บริการแลกเหรียญ และธนบัตรย่อย เพื่อลดการสัมผัส มีพนักงานจัดระบบคิวหน้าร้าน และการกำหนดจุดรอคิวในบริเวณที่กำหนด หากบริเวณหน้าร้านไม่มีพื้นที่ ให้ทางร้านแจกบัตรคิวพร้อมขอเบอร์โทรลูกค้า แล้วให้ลูกค้าไปนั่งรอที่ Rest Area ที่ทางศูนย์ฯจัดไว้

ขณะเดียวกันยังกำหนดการจัดคิว และมีสัญลักษณ์เว้นระยะอยู่ข้างหน้าตู้ ATM หรือ e-Booth ห่าง 1-2 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกคนอย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ทั้งก่อน-หลังเข้ารับบริการ โดยให้ธนาคารจัดเจลแอลกอฮอลล์บริเวณเคาน์เตอร์ให้บริการ 2 ช่อง ต่อ 1 ขวด

กำหนดเส้นทางเดินของลูกค้าในร้านค้า สำหรับร้านค้า จำกัดการรับลูกค้าและผู้ติดตามรวมแล้วไม่เกิน 2 คนต่อกลุ่ม จัดระเบียบการเข้าคิวแคชเชียร์และจุดบริการต่าง ๆ กำหนด ระยะห่าง 1-2 เมตร ส่งเสริมการชำระเงินแบบ Cashless Payment สำหรับอุปกรณ์ Demo ต้องเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากลูกค้าสัมผัสทันที, ทำความสะอาดบริเวณจุดที่มีการสัมผัสร่วมสูง ทุก ๆ 30 นาที, ทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อพื้นที่ร้านค้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันหลังปิดให้บริการ และทำความสะอาด Big Cleaning อบโอโซนฆ่าเชื้อ ทันทีหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการ และพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ และเปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ทั้งหมด มี Counter Shield ในจุดให้บริการลูกค้า