อีสปอร์ตบูมจัด แพลนบี ดึง e-league โกยยอด 80 ล้าน

อีสปอร์ต

‘แพลนบี’ ชูอีสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง เดินหน้าดึงแบรนด์ลงโฆษณา ปั้น eFootball และ E-LEAGUE หลังตอบรับเกินคาด ผู้ชมทะลุ 2 แสนคน สร้างยอด reaches 30 ล้านครั้ง ตั้งเป้าฟันรายได้ 80 ล้านบาท

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ปัจจุบันอีสปอร์ต (E-sports) หรือการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเกม เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในยุคดิจิทัล สะท้อนจากมูลค่าตลาดอีสปอร์ตไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% และมีการคาดการณ์ได้ว่าภายในปี 2564 จะมีเม็ดเงินทะลุ 30,000 ล้านบาท

นายนพชัย หวังรักษ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในมุมมองของแพลนบี ตลาดอีสปอร์ต เป็นโมเดลกีฬาแห่งอนาคต ศตวรรษนี้เป็นยุคที่ทุกกีฬาหลักของโลก โดยเฉพาะฟุตบอล ต่างแข่งขันกันใช้ซอฟต์แวร์ มาสร้างตัวตนของทีมผ่านเกมอีสปอร์ต ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ตัวเกมแทนสื่อกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงสโมสรให้ขยับเข้าใกล้กับแฟนบอลมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีอีสปอร์ตเติบโตและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ฐานแฟนบอลก็จะมีจำนวนมากขึ้นตามมา และกลายเป็นกำลังซื้อกลุ่มสำคัญกลุ่มใหญ่ในตลาด ที่สำคัญอีสปอร์ตยังสามารถพัฒนาให้สโมสรฟุตบอลก้าวสู่แบรนด์ที่สร้างมูลค่าและ engagement ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ไม่ว่าแฟนบอลจะรู้จักตัวตนของสโมสรผ่านการแข่งขันในสนามฟุตบอลหรือในหน้าจอเกมก็ตาม

ที่ผ่านมา แพลนบี ได้รับสิทธิ์ในการบริหารสิทธิประโยชน์ แก่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และพัฒนาไปสู่ความร่วมมือกับบริษัท โคนามิ ดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผู้ผลิตและพัฒนาเกม eFootball หรือชื่อเดิม PRO EVOLUTION SOCCER (PES) จากประเทศญี่ปุ่น

จนเกิดการผลักดันให้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยเข้ามาอยู่ในตัวเกมระดับโลก พร้อมกับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตระดับมืออาชีพให้กับเกม eFootball ในประเทศไทย

โดยมีแม่เหล็กเป็นฟุตบอลไทยลีก ทั้งทีมชาติไทยและทีมสโมสรรวม 16 ทีม ที่ไม่ว่าจะชื่อ, โลโก้, รูปลักษณ์ของนักกีฬา หรือชุดแข่ง ล้วนถูกถอดแบบมาไว้ในการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แฟน ๆ ไทยลีกจะได้เห็นทีมรักของตัวเองอยู่ในสายตาของคนทั่วโลก นับเป็นความตื่นเต้นที่วงการ อีสปอร์ตไทยไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย

แม้ภาพจำเดิมของอีสปอร์ตจะถูกมองว่า เป็นตลาดฉาบฉวย มีอายุสั้น และยังมีความไม่ชัดเจน แต่แพลนบี ตั้งใจมาทำในสิ่งตรงข้าม คือสร้างการแข่งขันระบบลีกเหมือนฟุตบอลในสนามจริงทั่วโลก วิธีนี้จะทำให้อีสปอร์ตกลายเป็นตลาดที่ยั่งยืนกว่าเดิม

นอกจากนี้ แพลนบียังเลือกใช้กลยุทธ์รุกตลาดที่หลากหลายทั้งสื่อนอกบ้าน สื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ (Engage) ไปยังแฟนฟุตบอลไทยกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ

ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟน ๆ กับผู้สนับสนุนรายการทั้งในและต่างประเทศ โดยแพลนบี ตั้งเป้ารายได้จากการเข้าสู่ตลาดอีสปอร์ตครั้งนี้กว่า 80 ล้านบาทต่อปี พร้อมสร้างรากฐานให้อีสปอร์ตไทยยุคใหม่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแรง

ระยะเวลา 2-3 ปีที่แพลนบี เริ่มจัดการแข่งขันอีสปอร์ตฟุตบอลขึ้นในประเทศไทย ‘E-LEAGUE’ คือรายการที่ได้เสียงตอบรับจากแฟนๆ เกมฟุตบอลและแฟนไทยลีกสูง นับเฉพาะปี 2563 มียอดคนดู (Views) มากกว่า 14 ล้านวิว และมียอดรับชมรวมกว่า 21,000,000 นาที

ซึ่งเทียบเท่าได้กับกีฬาฟุตบอลจริง ๆ หรือในทัวร์นาเมนต์ล่าสุดปี 2564 ที่จำเป็นต้องปรับการแข่งขันเป็นออนไลน์เต็มรูปแบบตามสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและปลอดภัยตามมาตรการของภาครัฐ แต่ ‘E-LEAGUE 2021’ ยังสามารถสร้างการเข้าถึง (Reaches) มากกว่า 30,000,000 reaches จากค่าเฉลี่ยผู้รับชมกว่า 200,000 คน อีกทั้งการแข่งขันรายการ ‘E-LEAGUE PES MOBILE THAILAND CHAMPIONSHIP’ ในปีเดียวกันเองก็มียอดสมัครเข้าแข่งขันกว่า 500,000 คน นับเป็นยอด ACTIVE USERS ที่สูงที่สุดในโลกของเกม eFootball ในเวลานั้น

คีย์แมนแพลนบี กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้วงการอีสปอร์ตปรับตัวจากการแข่งขันออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) อย่างที่เห็นในแวดวงเกมในปัจจุบัน

โดยระบบดังกล่าวสามารถสร้างอิมแพ็กด้าน engagement ที่ดีกว่าการทำตลาดออนไลน์ทั่วไป ผลลัพธ์จากการเปิดกว้างให้คนทั่วไปได้สัมผัสและเข้าถึงความเป็นกีฬาอีสปอร์ตมากยิ่งขึ้น

โดยในทัวร์นาเมนต์ E-LEAGUE ปี 2021 แพลน บี ได้ร่วมมือทำงานกับเจ้าของเกมอย่าง โคนามิ ดิจิตัล เอนเตอร์เทนเมนต์ ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ทุกกระบวนแข่งเดินหน้าได้อย่างไร้ปัญหา รวมถึงช่วยให้นักกีฬาและผู้ชมสามารถเชื่อมต่อกันผ่านระบบถ่ายทอดสดที่มีคุณภาพ จนเรากล้าพูดอย่างเต็มปากว่าE-LEAGUE 2021 เป็นหนึ่งในรายการอีสปอร์ตที่มีมาตรฐานและคุณภาพในระดับสูงสุดของทวีปเอเชีย

“แม้จะเป็นปีที่ต้องเผชิญหน้ากับการปรับตัวหลายอย่าง แต่คาดการณ์ตลาดอีสปอร์ตในปี 64-65 ยังมีภาพรวมที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการหลายส่วน ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการแข่งขันอีสปอร์ตในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการ ที่นักกีฬาอีสปอร์ตจะถูกระบุให้เป็นนักกีฬาอาชีพ เช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพชนิดอื่น ๆ”

พร้อมกันนี้ ยังมีกลุ่มทุนจากภาครัฐและเอกชนมากมาย ที่พร้อมใจกันเข้ามาลงทุนใน ecosystem ของตลาดอีสปอร์ต ไม่ว่าจะเป็น การก่อตั้งทีม หรือการร่วมมือกับทีมอีสปอร์ตจากต่างประเทศ เพื่อขยายสาขามายังประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)

ขณะเดียวกันก็เกิดการต่อสู้กันของกลุ่มทุนมากขึ้น ทั้งเพื่อพยายามเป็นศูนย์กลางของการแข่งขัน และเพื่อเป็นผู้จัดการแข่งขันระดับโลก จนทำให้ตลาดอีสปอร์ตจะมีการแข่งขันที่สูงอยู่ตลอดเวลา

แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้สนับสนุนการแข่งขันอีสปอร์ต จะต้องหากลยุทธ์-วิธีการใหม่ ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำเป็นต้องเน้นถึงผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปพร้อม ๆ กับการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายในตลาดอีสปอร์ตให้ชัดเจนกว่าเดิม

“ปัจจุบันตลาดอีสปอร์ตมีความนิยมสูงขึ้น ส่งผลให้แพลนบีก็ต้องปรับตัวสร้างการแข่งขันที่เร้าใจฐานแฟนกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้น เพื่อรักษาความนิยมและมาตรฐานของ E-LEAGUE ให้ดีในทุกซีซั่น

แน่นอนว่าในปี 2021 นี้หลังจากการแข่งในระบบลีกจบลง เรายังได้เพิ่มความน่าสนใจเกมไปอีกขั้น ด้วยการแข่งขันประเภท Knockout Tournament ในช่วงเดือนสิงหาคม หรือภาษาฟุตบอลเรียกว่าบอลถ้วย เสน่ห์ของรายการนี้อยู่ที่ผู้แพ้จะถูกคัดออกทันทีโดยไม่มีการแก้ตัว ตลอดระยะเวลา 90 นาทีในเกม แฟน ๆ จะได้รับชมทั้งศาสตร์ของฟุตบอล และทักษะด้านฟุตบอลอีสปอร์ตในระดับสูงสุดของบรรดานักกีฬาตัวแทนสโมสรไทยลีกทั้ง 16 ทีม ฝีมือและเวลาเพียง 90 นาทีในเกมจะเป็นตัวตัดสินว่าคุณมีดีแค่ไหน กับจุดสูงสุดของอีสปอร์ตเกมฟุตบอลประเทศไทย”