
“โออิชิ กรุ๊ป” เผยรายได้ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ไตรมาส 3 ระหว่างปี 2563-2564 เติบโต 20% จากการปรับตัวรุกตลาดทุกช่องทางฝ่าวิกฤตโควิด
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการ สำหรับงวดสามเดือนและเก้าเดือน และฐานะทางการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (ไตรมาส 3/2563-2564)
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
โดยนางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้รวม 2,602 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น จำนวน 448 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562-2563 และมีกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3 อยู่ที่ 162 ล้านบาท ปรับตัวขึ้น 79 ล้านบาท หรือ 95.8% จากการควบคุมการดำเนินงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายได้แบ่งเป็นธุรกิจเครื่องดื่ม มีรายได้ 1,815 ล้านบาท เติบโตกว่า 291 ล้านบาท หรือ 19.1% ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มภายในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม “โออิชิชาคูลล์ซ่า” ซึ่งเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วงหน้าร้อน และการขยายฐานกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นผ่านช่องทางเกมออนไลน์ รวมไปถึงยอดขายส่งออกของบริษัทได้กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสนี้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ด้านธุรกิจอาหาร มีรายได้ 787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.9% เนื่องจากการปรับตัวขยายช่องทางขายในรูปแบบซื้อกลับ (Take-away) และการขายส่งถึงที่บ้าน (Home Delivery) เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งในไตรมาสนี้ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการควบคุม เช่น การปิดห้างสรรพสินค้าเหมือนในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 จึงส่งผลให้ร้านอาหารสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานใหม่ ได้แก่ ซอสบรรจุขวด ภายใต้แบรนด์โออิชิ ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของยอดขายธุรกิจอาหารและสอดคล้องแนวโน้มพฤติกรรมการทำอาหารที่บ้านมากขึ้น
ขณะที่รายได้สำหรับงวดเก้าเดือนของปี 2563-2564 รวม 7,638 ล้านบาท ลดลง 785 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.3% จากงวดเก้าเดือนของปี 2562-2563 โดยธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้ 4,711 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท และธุรกิจอาหารมีรายได้ 2,927 ล้านบาท ลดลง 839 ล้านบาท
ถือว่าธุรกิจอาหารมีผลกระทบที่มากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของรอบบัญชีก่อน ที่เพิ่งเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของงวด อีกทั้งมาตรการควบคุมการระบาดจากทางภาครัฐ ในเรื่องการจำกัด การนั่งรับประทานในร้านและการกำหนดเวลาการให้บริการยังส่งผลให้ผู้บริโภครับประทานอาหารในร้านน้อยลง
จากปัจจัยดังกล่าวบริษัทได้พัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ เช่น Oishi-To-Go ซึ่งมีเมนูที่น่าสนใจใหม่หลายรายการที่เหมาะแก่การซื้อนนำกลับ (Take-away) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงสนใจซื้อผ่านทางร้านอาหาร อีกทั้งการขายผ่านช่องทางส่งตรงถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจำนวนร้านค้าที่สามารถรองรับการให้บริการส่งถึงบ้านให้ครอบคลุมมากขึ้น ควบคู่กับการเสนอโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน