ประมูล ATK พันล้านอลหม่าน “อย.-องค์การเภสัช” ประสานเสียงลุยต่อ

ชุดตรวจเอทีเค
แฟ้มภาพ

ประมูลชุดตรวจเอทีเคพันล้าน ฝุ่นตลบ อย.ผนึกองค์การเภสัชฯ ยันทำตามระเบียบข้อบังคับ เผยเลือก Lepu Medical ราคาถูกสุด ประมูลเป็นธรรม ไม่มีการล็อกบริษัทล่วงหน้า เบื้องต้นระงับการสั่งซื้อ หากไม่พบสิ่งผิดปกติ เดินหน้าโครงการต่อ

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกรณีมาตรฐานการพิจารณาอนุญาตชุดตรวจ ATK และการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุว่า ปัจจุบัน อย.ได้อนุมัติชุดตรวจโควิดอย่างเร็ว หรือ Antigen Test Kit (ATK) ไปแล้วกว่า 86 รายการ แบ่งเป็น ATK สำหรับประชาชน (home use) 34 รายการ และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) 52 รายการ โดยพยายามอำนวยความสะดวกให้รวดเร็วที่สุดในภาวะเร่งเด่น แต่ยังคงมาตรฐานพื้นฐานในการขออนุญาตขึ้นทะเบียน 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้ 1.บริษัท ผู้นำเข้า หรือผู้ผลิตต้องยื่นขออนุญาตกับ อย. โดยต้องส่งชุดตรวจเพื่อให้ผ่านการทดสอบทางคลินิกในประเทศไทย 2.พิจารณาเอกสารคำขอขึ้นทะเบียน ทั้งประสิทธิภาพความปลอดภัย รายงานผลทดสอบทางคลินิกที่ทำการทดลองจริง 3.ประเมินเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญของ อย. และสภาเทคนิคการแพทย์ และ 4.ออกใบอนุญาตโดย อย.

สำหรับกรณีชุดตรวจ ATK ของ Lepu Medical Technology ที่ถูก อย.ของประเทศสหรัฐอเมริกาส่งคืน ทั้ง Antigen Rapid Test Kit (ATK) และ Antibody Rapid Test Kit นั้น เกิดเรื่องความเสี่ยงที่ให้ผลลวงได้ ประกอบกับบริษัทต้นทางยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตกับ อย.อเมริกา ในการวางจำหน่ายทั่วไป จึงถูกเรียกเก็บสินค้าคืน แต่ชุดตรวจไม่ได้มีความอันตราย หรือก่ออาการบาดเจ็บกับผู้ใช้งาน

สำหรับการอนุญาต Antigen Rapid Test Kit (ATK) ของ Lepu Medical Technology ที่นำเข้าโดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัดนั้น อย.ขอยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐาน โดยได้ส่งชุดตรวจของบริษัทดังกล่าวเข้าทดสอบทางคลินิกได้ผลความไวเชิงวินิจฉัย เท่ากับ 90% และความจำเพาะทางวินิจฉัย เท่ากับ 100% ถือว่าผ่านเกณฑ์ จึงมีการออกใบอนุญาตให้

ขณะที่นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชฯ ได้รับมอบหมายจาก รพ.ราชวิถี และ สปสช. ให้ดำเนินการจัดหา ATK ในภาวะเร่งด่วน 8.5 ล้านชุด โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 19 บริษัท จากที่เชิญไปทั้งหมด 24 บริษัท และมี 16 บริษัทที่สามารถเข้าร่วมการเปิดซองได้ โดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด เฉลี่ย 70 บาท/1 ชุด รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ทำให้ประหยัดงบฯไปได้กว่า 400 ล้านบาท ขณะที่ สปสช.ได้กำหนดราคามาที่ไม่เกิน 120 บาท/1 ชุด และชุด ATK ของ Beijing Lepu Medical Technology ได้รับการขึ้นทะเบียนในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี โปแลนด์ ญี่ปุ่น รวมไปถึงผ่านมาตรฐาน CE

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพ องค์การเภสัชฯได้ชะลอการสั่งซื้อทันที โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง น่าจะใช้เวลาไม่นานนัก ถูกต้องทุกประการก็จะเดินหน้าโครงการต่อทันที

ด้านนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง MCOT HD 30 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ถึงกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท ให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาแทน จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยการให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นเพียงประธานคณะทำงานต่อรองราคา สปสช.เป็นเพียงเจ้าของเงิน โดยพูดถึงวิธีปฏิบัติว่า สปสช.จะเป็นผู้กำหนดสเป็กได้ แต่จะกำหนดโดยตรงไม่ได้ต้องมีการแจ้งผ่าน รพ.ราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาโดยไม่มีปัญหาอะไร

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน สปสช.ทำหนังสือไปวันที่ 22 กรกฎาคม แจ้งไปที่ รพ.ราชวิถี ขอดำเนินการเร่งด่วนในการจัดซื้อจัดหา เข้าใจว่าองค์การเภสัชกรรม บอกมาว่า คำว่าเร่งด่วนของราชการคือ การกำหนดให้ซื้อเฉพาะเจาะจงได้ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการซื้อเฉพาะเจาะจงคือวิธีพิเศษ เลือกซื้อได้เลย ซึ่งจะโทษระเบียบของภาครัฐไม่ได้ เพราะมีเปิดช่องเอาไว้ เรียกว่าล็อกสเป็กก็ได้ ใช้นิ้วชี้ได้เลย เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ราชการสุดยอดมาก เพราะทำระเบียบนี้รองรับเอาไว้แล้ว กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงสามารถทำได้

คณะกรรมการวินิจฉัยภาครัฐว่าด้วยการพัสดุ ของกรมบัญชีกลาง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมบัญชีกลางมีการออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 63 ให้สามารถใช้วิธีการเจาะจง ยกเว้นวงเงิน ขบวนการขั้นตอนตรวจรับก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ซื้อของมาแจกจ่ายได้เลย แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงต้องถามองค์การเภสัชกรรม