อภ.เผย HXP-GPO Vac วัคซีนเชื้อตายสัญชาติไทยต้านโควิดดี เตรียมทดลองเฟส 2

องค์การเภสัชกรรมเดินหน้าทดลองวัคซีนเชื้อตายไวรัสเวกเตอร์สัญชาติไทย ‘HXP-GPO Vac’ ในมนุษย์เฟส 2 หลังเฟสแรกพบปลอดภัยสูง ยับยั้งโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น-เดลต้าได้ อนาคตเล็งศึกษาขอบเขตกลุ่มเด็ก-คนท้อง คาดพร้อมผลิตกลางปี 65

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชฯ ภายใต้ชื่อ HXP-GPO Vac ได้เริ่มศึกษาวิจัยตั้งแต่ มิ.ย. 63

ผ่านความร่วมมือกับสถาบัน PATH ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่ชื่อว่า นิวคาสเซิล มาให้ โดยไวรัสตัวดังกล่าวจะก่อโรคในไก่ และจะถูกนำมาตัดแต่งพันธุกรรมให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) เหมือนไวรัสโควิด-19 จากนั้นจึงนำไปเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ เมื่อได้เชื้อมากพอจะทำให้เชื้อตาย จึงเรียกว่าเป็นเชื้อตายแบบไวรัสเวกเตอร์ ดังนั้นเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีชื่อว่าวัคซีนเชื้อตายไวรัสเวกเตอร์ ถือเป็นลูกผสม ไม่ใช่เชื้อตายแบบธรรมดาทั่วไป

ด้าน ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนเชื้อตายไวรัสเวกเตอร์ขององค์การเภสัชฯ ได้ผ่านการทดลองในมนุษย์เฟสที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด 210 คน ในอายุ 18-60 ปี

โดยผลการทดลองพบมีประสิทธิภาพดี เป็นที่น่าพอใจ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยับยั้งเชื้อทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) และเดลต้าได้

และมีความปลอดภัยสูง สะท้อนจากผลข้างเคียงที่อยู่ระดับเล็กน้อย เช่น ปวดบวมบริเวณฉีด ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเพียงระยะหนึ่งก่อนที่อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง

อย่างไรก็ดี จากนี้ไปจะเดินหน้าเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟสที่ 2 กับอาสาสมัครจำนวน โดยปัจจุบันมี 250 คน จากเดิมมีสูตรตั้งต้น 5 สูตร จะตัดเหลือ 2 สูตรที่ดีที่สุด เพื่อทำการทดลองดูประสิทธิผลและความปลอดภัยให้มากขึ้น คาดว่าจะเฟสที่ 2 จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 64

ส่วนในระยะที่ 3 ต้องทดลองกับกลุ่มคนให้มากขึ้นในหลักพันคน แต่จะเน้นดูการเปรียบเทียบประสิทธิผลกับวัคซีนชนิดอื่นและยี่ห้ออื่น ซึ่งต้องปรึกษากับ อย. เพิ่มเติมก่อน

นพ.วิฑูรย์ กล่าวเสริมว่า ในเฟสที่ 2 นี้ ได้ขยายฐานอายุอาสาสมัครผู้ฉีด เป็น 18-75 ปี เพื่อให้วัคซีนรองรับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น

ส่วนแผนในระยะถัดไปจะขยายการทดลองมาสู่กลุ่มเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนชนิดเชื้อตายนี้ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานและมีความปลอดภัยสูง

ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการทั้งหมด รวมไปถึงการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ในภาวะฉุกเฉินจะเสร็จในปีหน้า และหากสำเร็จจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2565 หรือในราว มิ.ย. โดยจะผลิตที่โรงงานขององค์การเภสัชฯ ในทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ช่วงแรกน่าจะมีกำลังการผลิต 20-30 ล้านโดส/ปี

เมื่อถามว่าวัคซีนดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ นพ.วิฑูรย์ ระบุว่า การจัดซื้อวัคซีนจะทำในนามรัฐบาล ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย

“การวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การเภสัชฯ มีเป้าหมายมุ่งหวังให้ไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน และสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้” นพ.วิฑูรย์กล่าวและว่า