CRG ขนทัพร้านอาหารไทย-จีน เสริมแกร่งดีลิเวอรี่

วิกฤตโควิด-19 กระทบร้านอาหาร 4 แสนล้าน อ่วมหนัก “ซีอาร์จี” กางแผนครึ่งปีหลัง ยกทัพแบรนด์ร้านอาหาร “ไทยเทอเรส อร่อยดี เกาลูน ส้มตำนัว” ลุยขายดีลิเวอรี่สร้างรายได้ พร้อมเดินหน้าขยายสาขาใหม่สารพัดโมเดล

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Thai & Chinese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับความท้าทาย จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวรับมือกับมาตรการของภาครัฐ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีผลจากการปรับตัวของการจ้างงาน โดยรวมแล้วคาดการณ์ว่า ธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท จะขยายตัวเพียง 1.4-2.6%

เช่นเดียวกับ บริษัทได้ปรับโครงสร้างการบริหารและการปฏิบัติงาน มุ่งเน้นในด้านการบริหารจัดการต้นทุนด้วยการดึงศักยภาพของพนักงานให้สามารถทำได้หลายหน้าที่ รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนของวัตถุดิบ ให้เกิดความสูญเสียน้อยลง ตลอดจนการจัดหาพื้นที่ทำดีลิเวอรี่ และเจรจาค่าเช่าให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดในครึ่งปีหลัง ภายใต้แบรนด์ร้านอาหารไทยและอาหารจีน ยังคงให้ความสำคัญกับการทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ขับเคลื่อนด้วยดาต้า (Data-Driven Everything) เพื่อรองรับผู้บริโภคที่สั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีมากกว่า 90% ทั้งช่องทาง Google trend, Tiktok, Twitter เป็นต้น ควบคู่กับการเลือกใช้ผู้นำเทรนด์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคคนรุ่นใหม่ ด้วยการสื่อสารเมนูใหม่ๆ ผ่าน KOLs, Food Influencer และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เน้นเรื่องความแตกต่าง ราคา และภาพลักษณ์ของสินค้า

นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ผ่านกลยุทธ์ตลาด เช่น Fantastic 4 การสั่งอาหารที่ทำได้ครบจบในแอปเดียวแบบ 4 in 1 โดยสามารถเลือกได้กว่า 50 เมนู ขายดี จาก 4 ร้านดัง อร่อยดี, Tokyo Bowl รวมเมนูเด็ดข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่น, เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ และเจ๊เกียงหมูทอด ข้าวเหนียวนุ่ม โดยในช่วงครึ่งปีหลังได้มีแบรนด์ ส้มตำนัว เข้ามาเสริมทัพแบรนด์ในกลุ่ม เพื่อขยายฐานลูกค้าให้หลากหลาย โดยเน้นสัดส่วนการขายดีลิเวอรี่เป็นหลัก

นอกจากการปรับโครงสร้างของการบริหารงานระบบแล้ว ในส่วนของพื้นที่ร้าน บริษัทได้ปรับให้เหมาะกับสัดส่วนการขายและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากเดิมได้มีการแบ่งสัดส่วนช่องทางจัดจำหน่าย ที่ประกอบด้วย การนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน (Dine In & Take away) และดีลิเวอรี่ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา อัตราการนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน มีสัดส่วนที่ 70% ขณะที่ปี 2564 ปรับลดสัดส่วนลงมาที่ 60% ด้านช่องทางการขายดีลิเวอรี่ ในปี 2563 มีสัดส่วน 30% ส่วนในปี 2564 อยู่ที่ 40% ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของสาขาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การควบคุมการระบาดโควิด-19

ปัจจุบันร้านอาหารไทยและร้านอาหารจีน มีทั้งหมด 67 สาขา หลัก ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น แบรนด์ไทยเทอเรส จำนวน 17 สาขา อร่อยดี 33 สาขา เกาลูน 10 สาขา และส้มตำนัว 7 สาขา นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ โตเกียว โบวล์ (Tokyo Bowl) ซึ่งเป็น Virtual Brand อีก 50 สาขา

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานของ Thai & Chinese Cuisine ครึ่งปีแรกของปี 2564 ภาพรวมเติบโตขึ้น 10% โดยตัวเลขรายได้ ในปี 2653 อยู่ที่ประมาณ 270 ล้าน ซึ่งการเติบโตมาจากการพัฒนาโมเดลใหม่เพิ่มเติม อาทิ คีออส์ (Kiosk) รวมถึงการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง