สธ. แจงงบจัดซื้อ ATK 180 ล้าน ชี้เป็นงบกลางปี 64

rapid test antigen
Photo by YASSER AL-ZAYYAT / AFP

สธ. ชี้งบประมาณ 180 ล้านบาท จัดซื้อ ATK ป้อนด่านหน้า เป็นงบกลางปี 2564 ยันขอรัฐมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือจัดสรร คาดหากส่งมาแล้ว สัปดาห์หน้าเตรียมพิจารณาคุณสมบัติ ATK ยันยังไม่มีการล็อกยี่ห้อ-สเป็ก

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 หลังจากชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ถึงกรณีชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่มีข้อกังขา และตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะอัดงบอีกราว 180 ล้านบาท จัดซื้อ ATK อีกลอต เพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าใช้งบประมาณก้อนใดในการจัดซื้อ ตลอดจนการคักสรรยี่ห้อจะเป็นยี่ห้อเดิมหรือไม่นั้น

ล่าสุด นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีมีรายงานว่าที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขให้มีการซื้อชุดตรวจโควิด ATK สำหรับบุคลากรการแพทย์ โดยมีงบประมาณ 180 ล้านบาท 

ขอชี้แจงว่างบประมาณดังกล่าว เป็นแผนงานที่ สธ. ขอจากรัฐบาลนานแล้ว สืบเนื่องมาจากกรมควบคุมโรคมีข้อกำหนดให้เพิ่มการคัดกรองในสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาได้เร็ว 

โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข แม้ในการปฏิบัติงานจะเพิ่มความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็อาจมีการติดเชื้อได้ รวมถึงกรณีที่อาจจะมีการติดในบุคลากรกันเองด้วย 

จึงเป็นที่มาของนโยบาย สธ. ที่ให้ตรวจเชื้อโควิดด้วย ATK ในกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นำร่องทดลอง 4-5 สัปดาห์ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ เพื่อคัดกรองบุคลากรในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องงบประมาณนั้น มีกองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งโดยปกติทาง กบรส. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) บริหารคลังอุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ ต่าง ๆ อยู่แล้ว อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากา N95 ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่จัดซื้อและกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องก็จะออกข้อกำหนดในการซื้อ ATK อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า งบประมาณ 180 ล้านบาท เป็นงบกลางปี 2564 ที่ ครม.อนุมัติให้มาแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ 

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดส่งมา คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของ ATK ที่จะใช้ ซึ่งตามหลักผู้ใช้สามารถกำหนดสเปกได้ แต่ กบรส. ก็ต้องมีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณา อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

เบื้องต้นที่มีการหารือกันในเบื้องต้นนั้น เป็น ATK สำหรับให้ประชาชนตรวจด้วยตัว หรือโฮมยูส (Home Use) เพราะบุคลากรก็คือประชาชนคนหนึ่ง และมีหลายส่วนงาน 

ดังนั้น จึงใช้ชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เอง ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นยี่ห้อท็อปตัวไหนเป็นพิเศษ แต่ให้เป็น ATK ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับอย. แล้วเท่านั้น