Zen กางแผนลดความเสี่ยง ลุยเปิดครัวกลางนอกห้าง

“เซ็น คอร์ปอเรชั่น” เร่งเครื่องสู้โควิด-19 ประกาศงัดโมเดลคลาวด์คิตเช่น ควบแบรนด์หลัก ขายนอกห้าง หวังกระจายความเสี่ยง เดินหน้าปูพรมร้านอาหารตามสั่งเขียง พร้อมลุยธุรกิจฟู้ดรีเทล อาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุงป้อนซูเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ ชวนสะสมแต้มรับส่วนลด-จัดเต็มโปรโมชั่น มั่นใจปลายปีธุรกิจพลิกฟื้นหลังภาครัฐเร่งฉีดวัคซีน

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะต้องลากยาวออกไปจนถึงปลายเดือนกันยายน เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ กระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดการว่างงานสูง และมีรายได้ครัวเรือนลดลง ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

เช่นเดียวกับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านบาท มีทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนทางการมีมาตรการล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ทำให้รายได้จาก (dine-in) ซึ่งเป็นช่องทางการขายหลักลดลงไปกว่า 70-80%

ปัจจุบันแม้ว่าภาครัฐจะผ่อนปรนให้เปิดขายดีลิเวอรี่ได้ แต่เนื่องจากการเปิดสาขาในศูนย์การค้าหรือห้าง จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงต้องเลือกเปิดเฉพาะสาขาในบางแบรนด์เท่านั้น และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การจัดแคมเปญและโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการใช้บริการทั้งช่องทางดีลิเวอรี่และการซื้อกลับบ้าน รวมไปถึงยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าย และเน้นการดูเรื่องกระแสเงินสดอย่างรัดกุม

สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทจะมุ่งให้ความสำคัญในการหาโมเดลร้านใหม่ เพื่อเปิดให้บริการนอกศูนย์การค้า จากเดิมที่แบรนด์ใหญ่ของบริษัท อาทิ อากะ, เซ็น, ออน เดอะ เทเบิล จะเน้นเปิดสาขาในศูนย์การค้า แต่จากสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน จึงต้องกระจายความเสี่ยง สำหรับโมเดลที่ต้องการเปิดถาวร คือ คลาวด์คิตเช่น หรือครัวกลาง ในรูปแบบการยกครัวกลางและเมนูขายดีของแบรนด์หลัก ๆ เอามาไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับทั้งช่องทางซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง อีกด้านหนึ่งยังคงเดินหน้าขยายแฟรนไชส์ ร้านอาหารตามสั่ง เขียง ในรูปแบบร้านไซซ์เล็ก ประมาณ 150-180 ตารางเมตร ปัจจุบันมีกว่า 100 สาขา ซึ่งแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ในครึ่งปีหลังนี้ ได้ทยอยเปิดเพิ่มกว่า 20 สาขา

ส่วนสาขาในศูนย์การค้าและสาขาในแหล่งท่องเที่ยว ต้องกลับมาวางแผนใหม่เรื่องพื้นที่ขาย และจากนี้จะยุบแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันให้เหลือเพียงร้านเดียว และจะไม่เน้นพื้นที่ใหญ่เหมือนที่ผ่านมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าพื้นที่ และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป นอกจากนี้ ในช่วงที่ร้านอาหารในศูนย์ต้องปิด จึงเป็นโอกาสที่จะรีโนเวตสาขาที่เปิดมานานและอยู่ในทำเลที่สร้างยอดขายได้ดี เพื่อรองรับการกลับมาใหม่ หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย

ปัจจุบันเซ็น คอร์ปอเรชั่น มีสาขาของแบรนด์ต่าง ๆ รวมประมาณ 350 สาขาทั่วประเทศ ขณะนี้มีสาขาที่เปิดอยู่ในศูนย์การค้าปิดไปประมาณ 130 สาขา ที่เหลือเป็นสาขานอกห้างอีก 200 สาขา และส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ร้านอาหารตามสั่งเขียง

พร้อมกันนี้ยังต้องเพิ่มน้ำหนักช่องทางดีลิเวอรี่ ด้วยการจัดแคมเปญสะสมแต้ม เพื่อนำมาแลกเป็นส่วนลดซื้ออาหาร ผ่านแพลตฟอร์ม “เซ็นกรุ๊ป” ที่เป็นศูนย์รวมสำหรับสั่งอาหารและจ่ายเงินครบจบในขั้นตอนเดียว ควบคู่กับการทำโปรโมชั่นร่วมกับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสขาย ทำให้ภาพรวมยอดขายจากดีลิเวอรี่ของร้านต่าง ๆ ในเครือ เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 50 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่มีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังเตรียมรุกหนักธุรกิจฟู้ดรีเทล ทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมทาน (ready-to-eat) ที่มาจากเมนูซิกเนเจอร์ ชูจุดขายคือ สะดวกในการทาน และราคาคุ้มค่า รวมไปถึงสินค้าพร้อมปรุง อยู่ระหว่างการเตรียมเพิ่มสินค้ากลุ่มน้ำพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มแจ่ว น้ำปลาร้า เพิ่มขึ้น แม้ก่อนหน้านี้มีทำออกมาบ้างแล้ว แต่สัดส่วนยังถือว่าน้อย หลัก ๆ ต้องการวางขายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตให้ครอบคลุมทุกสาขา เพื่อรองรับโอกาสของตลาดอาหารพร้อมปรุง มูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 1,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134 ล้านบาท หรือ 13.6% เป็นรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 8.3% แม้ภาครัฐจะมีคำสั่งปิดห้ามรับประทานอาหารในร้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่บริษัทได้มีการเร่งจัดโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้บริการในร้านอาหาร รวมไปถึงรายได้ที่มาจากการขายวัตถุดิบให้กับแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น 24.3% เนื่องจากร้านอาหารกลุ่มแฟรนไชส์มียอดขายเพิ่มขึ้น

ตามด้วยรายได้จากบริการจัดส่งอาหารและบริการจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้น 42.6% จากการผลักดันยอดขายผ่านช่องทางบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ที่มาจากการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้มากขึ้น และรายได้ธุรกิจอาหารค้าปลีกเพิ่มขึ้น 44.7% จากการขยายธุรกิจอาหารพร้อมปรุงผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและออนไลน์

“สิ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นภาพเศรษฐกิจคือ ภาครัฐต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และจากแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา และคาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย” นายบุญยงกล่าว