คิดแบบ “เบิร์ด”

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Market-Think

โดย สรกล อดุลยานนท์

 

เพิ่งเห็นคลิป “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ ในเว็บ The Cloud

“เบิร์ด” กำลังจะเปิดตัวอัลบั้มใหม่ของเขา

ในคลิปนี้เป็นการคุยกันของ “เบิร์ด” กับ “อ๊อฟ” บิ๊กแอส โปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดนี้

แนวคิดของเขามองว่าชีวิตของ “เบิร์ด” เปรียบเสมือนนักวิ่งมาราธอนของวงการเพลง

ร้องเพลงมายาวนาน โชว์บนเวทีมาเยอะมาก

ตอนที่ “เล็ก” บุษบา ดาวเรือง เรียกประชุมโครงการ “เบิร์ด มาราธอน”

“อ๊อฟ” ก็ถามขึ้นมาว่าอัลบั้มนี้จะต้องมี 10 เพลงหรือไม่

“ไม่ต้อง” พี่เล็กบอก

“อ๊อฟ” ก็เลยตัดสินใจทำแค่ 8 เพลงในอัลบั้มนี้

เขาได้ไอเดียจากการวิ่งมาราธอน ที่นักวิ่งทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอน

ต่าง ๆ 8 ขั้นตอน

เช่น ตื่นเต้น ท้อแท้ ฯลฯ

ทุกขั้นตอนเหล่านั้นเป็นเพลงได้หมด

โครงการนี้ “เบิร์ด” จะต้องแจมกับศิลปิน 8 คน

มีทั้งแสตมป์ “เนม” เก็ตสึโนวา

โพลีแคท ลาบานูน บิ๊กแอส ฯลฯ

ตอนที่ “อ๊อฟ” โทร.ไปบอกถึงโครงการนี้

ทุกคนจะอึ้งไปพักใหญ่

เพราะนึกไม่ออกว่าจะแต่งเพลงให้กับ “เบิร์ด” อย่างไร

ในวงการเพลง “เบิร์ด” คือ สุดยอดศิลปิน

การได้ร่วมงานกับเขาคงเป็นทั้งความรู้สึกที่สุดยอด

และ “เกร็ง” สุดขีด

ไม่รู้ว่าจะทำแบบไหนดี

แต่ “อ๊อฟ” บอกทุกคนไปว่าให้ลืม “เบิร์ด”

มองข้ามไปเลย

ให้แต่งเพลงเหมือนกับตัวเองจะร้อง

แล้ว “เบิร์ด” ค่อยเข้ามา

แต่ประเด็นที่ผมชอบที่สุด คือ มุมมองของ “เบิร์ด”

ต้องอย่าลืมว่า “เบิร์ด” อายุ 58 ปีแล้ว เดือนหน้าก็ 59

คนที่อายุขนาดนี้ และประสบความสำเร็จระดับนี้

ถ้าจะมั่นใจตัวเองก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่ “เบิร์ด” เป็นคนที่ในวงการให้การยอมรับเรื่องหนึ่ง คือ เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่

วันที่เขาคุยกับ “อ๊อฟ” เขาก็บอกเรื่องนี้

และ “เบิร์ด” รู้ว่าน้อง ๆ คงจะเกร็งที่จะร่วมงานกับเขา

“เบิร์ด” ใช้วิธีการอย่างไรรู้ไหมครับ

เขาใช้วิธีการศึกษางานของน้อง ๆ

แต่ละคน ดูผลงาน หาข้อมูลว่าน้อง ๆ ที่จะทำงานด้วยแต่ละคนเป็นอย่างไร

และจินตนาการครับ

จินตนาการว่าวันแรกที่เจอกัน เขาจะพูดอะไรกับน้อง ๆ

เรื่องนี้ควรจะเป็น “วิธีคิด” ของเด็กที่จะเจอกับผู้ใหญ่มากกว่า

แต่ “เบิร์ด” กลับใช้วิธีการนี้กับ “น้อง”

โห…เป็นวิธีคิดที่น่าชื่นชมมาก

นอกจากนั้นตอนที่ร้อง เขาจะดูวิธีการร้องของแต่ละคน แล้วร้องตาม

“เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ พี่อยากทำตามที่น้อง ๆ พูดให้ฟัง”

ถ้าเป็นจริงตามที่เขาพูด

แสดงว่า “เบิร์ด” ยอมทิ้ง “อัตตา” ความเป็นศิลปินใหญ่

เปิด “หู” ฟัง “เด็ก”

เขาอยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่คิดอย่างไร

ไม่เถียง ทำตามเลย

ทั้งที่ “ประสบการณ์” ของเขาเหนือกว่าเยอะ

แต่ถ้ายังยึดติดประสบการณ์ในอดีต

เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่

นี่คือ สิ่งที่นักธุรกิจหรือนักบริหารควรจะเรียนรู้จาก “เบิร์ด”