องค์การเภสัชฯ โต้ข่าวเป็นผู้แทนขายซิโนแวค ยันจัดหาวัคซีนตามนโยบายรัฐเท่านั้น

วัคซีนซิโนแวก

องค์การเภสัช ยันไม่ได้เป็นตัวแทนขายซิโนแวค ชี้แค่จัดหาวัคซีนคำสั่งกรมควบคุมโรค-มติ ครม. พร้อมระบุซิโนแวคเป็นวัคซีนตัวเดียวในช่วงต้นปีที่สามารถส่งให้ในภาวะฉุกเฉินได้

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 สืบเนื่องจากกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวอภิปรายในสภาฯ รวมถึงได้โพสต์เฟซบุ๊กในประเด็น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้วัคซีนซิโนแวค ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมขององค์การเภสัชฯ พร้อมระบุด้วยว่าการที่รัฐบาลยอมให้องค์การเภสัชฯ เป็นตัวแทนบริษัทยาเอกชน จากประเทศจีน ให้บริการวัคซีนที่มีคุณภาพด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมเช่นกัน

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากองค์การเภสัชฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์ผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน (มาตรา 31) หน้าที่หลัก คือ การเตรียมความพร้อมทางด้านเวชศาสตร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ในราคาที่เป็นธรรม โดยไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไรใด ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตและฉุกเฉิน เงินที่นำไปซื้อเป็นภาษีประชาชน ต้องนำไปซื้อ “สิ่งที่ดีที่สุด” เท่าที่ทำได้ ให้ประชาชนมีความคุ้มค่า มีการใช้จ่ายอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด องค์การเภสัชฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจง เรื่องการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อซิโนแวค ตามความต้องการของกรมควบคุมโรค และมติ ครม. ในการขึ้นทะเบียนและเร่งฉีดให้แก่ประชาชนฟรี โดยไม่ได้เป็นตัวแทนขายซิโนแวคแต่อย่างใด โดยมีเนื้อหาใจความดังนี้

องค์การเภสัชฯ ดำเนินการจัดหาวัคซีนซิโนแวค ตามที่กรมควบคุมโรคแจ้งความต้องการมา และที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ก็มีมติเห็นชอบในกรอบและวงเงินการจัดหาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอมา

ทั้งนี้ ซิโนแวค เป็น 1 ใน 5 วัคซีนป้องกันโควิดที่ภาครัฐมีนโยบายจัดหา เพื่อนำไปฉีดให้แก่ประชาชน และหากย้อนไปดูมติ ครม. ช่วงวันที่ 5 ม.ค. 64 ได้เห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก และได้หาวัคซีนจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม

โดย สธ. ได้พิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีวัคซีนมาฉีดในต้นปี 64 ที่ผ่านมา จึงเจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวค จากบริษัทผู้ผลิต จากประเทศจีน ซึ่งเป็นวัคซีน “ชนิดเดียว” ที่สามารถส่งให้ไทยอย่างเร่งด่วนได้ เมื่อต้นปีจำนวน 2 ล้านโดส

ดังนั้น องค์การเภสัชฯ จึงได้รับมอบหมายจาก สธ. เพื่อเป็นตัวแทนภาครัฐ ในการเป็นผู้นำเข้าและยื่นขอขึ้นทะเบียนซิโนแวคกับองค์การอาหารและยา (อย.) และได้รับการอนุมัติในภาวะฉุกเฉินเมื่อ 22 ก.พ. 64

พร้อมกันนี้ วัคซีนซิโนแวคที่องค์การเภสัชฯ นำเข้า ได้ส่งให้กรมควบคุมโรคกระจายฉีดฟรีให้แก่ประชาชน ไม่ได้มีการจำหน่ายทั่วไป และไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากนำเข้ารูปแบบฉุกเฉิน ไม่ได้นำเข้าเพื่อการพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ซิโนแวคลอตแรกนำเข้ามาเมื่อ 24 ก.พ. 64 และมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการตามแผนควบคุมโรคและป้องกันโรคของ สธ. โดยปัจจุบันนำเข้าแล้วราว 20.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนนำเข้าเอง 19.5 ล้านโดส และเป็นวัคซีนบริจาคจากจีน 1 ล้านโดส

นอกจากนี้ องค์การเภสัชฯ ได้เน้นย้ำวิสัยทัศน์ว่า องค์การเภสัชยังคงดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ และที่ผ่านมาได้ปฏิบัติภารกิจสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ในการทำหน้าที่เชิงสังคมให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการผลิต จำหน่าย และบริการยาและเวชภัณฑ์ ที่มีมาตรฐานสากล ผลิตยาที่จำเป็นและสำรองยาในยามฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงของชาติ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในอาเซียน สามารถพึ่งตนเองได้ และมีธรรมาภิบาล รักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย