ร้านอาหาร-แอร์ไลน์กัดฟัน เพลย์เซฟมาตรการคลายล็อก

แอร์ไลน์เด้งรับรัฐผ่อนล็อกดาวน์ “ไทยแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ส-ไทยเวียตเจ็ท” มาพร้อมหน้าเปิดเส้นทางบินภายในประเทศ จากดอนเมือง-สุวรรณภูมิไป “ภูเก็ต-เชียงใหม่-สมุย-หาดใหญ่-อุบลฯ-อุดรฯ” ลุ้นรัฐไฟเขียว “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3-ทัวร์เที่ยวไทย” ปลุกตลาดโค้งสุดท้ายปลายปี ด้านห้างสรรพสินค้า-ร้านอาหาร-ศูนย์บริการค่ายมือถือ-แบงก์ แห่เปิดรับลูกค้า งัดมาตรการเข้มสร้างความเชื่อมั่น เน้นบริหารความเสี่ยง-คุมต้นทุน

ผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจไอที-มือถือ สาขาของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ ฯลฯ ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าในพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดพากันทยอยกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ผ่อนคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 เช่นเดียวกัน ธุรกิจสายการบิน ที่เริ่มให้เปิดบริการเส้นทางบินภายในประเทศเข้าออกในพื้นที่โซนสีแดงเข้มรับมาตรการรัฐ

แอร์ไลน์เด้งรับคลายล็อก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังธุรกิจสายการบินถูกล็อกดาวน์ห้ามทำการบินเข้า-ออกจังหวัดสีแดงเข้มตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2564 ล่าสุด สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ออกประกาศคลายล็อกการบินในประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการที่กำหนด โดยขณะนี้ทุกสายการบินมีแผนกลับมาเปิดทำการบินเส้นทางบินภายในประเทศอีกครั้ง

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ไทยแอร์เอเชียพร้อมกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศ 3 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป เบื้องต้นนี้มี 11 เส้นทางบิน จากท่าอากาศยานดอนเมืองสู่เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และร้อยเอ็ด

โดยจัดโปรโมชั่นให้ส่วนลดทันที 30% ทุกที่นั่ง ทุกเที่ยวบิน ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดยาว วันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้สำรองที่นั่งถึง 5 ก.ย. เดินทางได้ตั้งเเต่ 3 ก.ย.-31 ธ.ค. 2564 ผ่านทาง airasia Super App และ www.airasia.com

บางกอกแอร์-เวียตเจ็ทพร้อม

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินกรุงเทพ หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์ส กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่ 1 ก.ย. 5 เส้นทางบิน 1.กรุงเทพฯ-สมุย วันละ 3 เที่ยวบิน 2.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน 3.กรุงเทพฯ-ภูเก็ต สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-ลำปาง สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน (เริ่ม 9 ก.ย.) และ 5.กรุงเทพฯ-สุโขทัย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน (เริ่ม 16 ก.ย.)

นอกจากนี้ยังคงให้บริการเที่ยวบินสนับสนุนโครงการสมุยพลัสโมเดล และภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-สมุย สำหรับผู้โดยสารที่ต่อเครื่องมาจากต่างประเทศ วันละ 2 เที่ยวบิน สมุย-สิงคโปร์ (สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และสมุย-ภูเก็ต สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน)

ขณะที่นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า พร้อมกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ 1 ก.ย.เป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ได้แก่ เส้นทางบินกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี

รวมทั้งเที่ยวบินข้ามภาคจากภูเก็ตสู่เชียงใหม่ (เริ่ม 15 ก.ย.) เชียงรายสู่หาดใหญ่ และภูเก็ต (เริ่ม 1 ต.ค.) ภูเก็ตสู่อุดรธานี (10 พ.ย.)

นอกจากนี้ ยังขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางในภูมิภาคเอเชีย เส้นทางบินใหม่กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ไทเป (ไต้หวัน) และสิงคโปร์ 20 ต.ค. และ 21 ต.ค. ตามลำดับ และบินตรงภูเก็ตสู่สิงคโปร์ ตั้งแต่ 21 ต.ค. สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน

รวมทั้งให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯไปภูเก็ต สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางจากไทเปมายังกรุงเทพฯ เชื่อมต่อ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

ลุ้นแคมเปญท่องเที่ยวเร่งดีมานด์

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจท่องเที่ยวกล่าวว่า เดือน ก.ย.นี้ ความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากเป็นเดือนแรกของการคลายล็อกเดินทางข้ามจังหวัด และเป็นช่วงโลว์ซีซั่นการท่องเที่ยว สายการบินที่เปิดให้บริการจึงโฟกัสเปิดให้บริการตามดีมานด์ของตลาดเป็นหลัก

แต่หากรัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้า 2 โครงการใหญ่คือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย (รัฐสนับสนุนงบประมาณสูงสุด 5,000 บาทต่อแพ็กเกจ) กระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศได้ทัน ก.ย.-ต.ค.นี้ จะทำให้ธุรกิจการบินหันมาทำการตลาดมากขึ้น ถ้าทันจะทำให้การเดินทางภายในประเทศกลับมาคึกคักโค้งสุดท้ายปลายปีนี้

สยามพิวรรธน์พร้อมรับเปิดเมือง

ด้าน นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บจ.สยามพิวรรธน์ เปิดเผยว่า สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม พร้อมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ด้วยมาตรการความปลอดภัยสูงสุด 360 องศา สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ ศบค. เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงาน ร้านค้า และผู้ใช้บริการ

อาทิ คัดกรองพนักงานเข้มข้นก่อนเข้าปฏิบัติงาน อาทิ ให้พนักงานทุกคนต้องได้รับวัคซีน, ตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit, Platform Thai Safe Thai, พนักงานต้องใส่หน้ากาก, ร้านค้าประเมินมาตรฐาน Thai Stop COVID+ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เดอะมอลล์ ศูนย์การค้าปลอดภัย

นายอมร อมรกุล ผู้จัดการใหญ่สายปฏิบัติการ บจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ศูนย์การค้าในเครือ ได้แก่ เดอะมอลล์, เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ทุกสาขา, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ พร้อมเปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตามมาตรการ ศบค.

โดยต้องลงทะเบียนสถานประกอบการ ตามมาตรฐานความปลอดภัย THAI STOP COVID PLUS (TSC+) และยกระดับมาตรการความปลอดภัยเชิงรุกขั้นสูงสุด ตามกรอบแนวทาง 7 มาตรการของสมาคมค้าปลีกไทยและคณะกรรมการกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าปลอดโรคโควิด-19

โดยให้พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานผู้แทนขาย พนักงานร้านค้า พนักงาน outsource กว่า 10,000 คน ที่กลับเข้าปฏิบัติงานในวันแรกต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK ทุกคน หรือมีผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 7 วัน นับจากวันเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนโควิด สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์

“ไมเนอร์ฯ-เซ็น” บริหารต้นทุน

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารเดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง ฯลฯ เปิดเผยว่า ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ฟู้ดทุกแบรนด์ได้เปิดให้บริการนั่งทานในร้าน โดยปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 200 สาขา ใน 29 จังหวัด

ส่วนสาขาในสนามบิน และย่านทัวริสต์ยังปิดอยู่ การกลับมาเปิดครั้งนี้จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ หากรายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายจะพิจารณาปิดร้าน มองว่าระยะแรกทราฟฟิกยังไม่กลับมา ประกอบกับนั่งทานในร้านได้เพียง 50% ต้องบริหารจัดการต้นทุนทั้งค่าเช่า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ กล่าวว่า ร้านอาหารในเครือเปิดให้บริการนั่งทานในร้านทุกสาขา ตามมาตรการภาครัฐเช่นเดียวกัน

ในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต้องปรับแผนการบริหารจัดการ 3 ส่วน ได้แก่ เรื่องค่าเช่า ต้องเจรจาขอส่วนลดตามทราฟฟิกของศูนย์การค้า ส่วนพนักงานได้ปรับสัดส่วนการทำงานให้บาลานซ์กับจำนวนลูกค้า รวมถึงการจัดการวัตถุดิบ เริ่มทยอยสั่งเข้ามาโดยเน้นวัตถุดิบที่มีอายุยาวขึ้น ลดผลกระทบหากโควิดระบาดอีกรอบ และวางแผนระยะยาว ขยายสาขานอกศูนย์ ในโมเดลของธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจฟู้ดรีเทล

เตรียมแผนสำรอง-กระจายเสี่ยง

ส่วนนายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (ซีอาร์จี) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล อาทิ มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ ฯลฯ กล่าวว่า ในส่วนของร้านในเครือจะทยอยเปิด ไม่ได้เปิดทีเดียวพร้อมกันทุกสาขา โดยพิจารณาตามพื้นที่ เพราะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น

ทั้งส่วนที่เป็น fixed cost อาทิ ค่าแรง ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองพนักงานด้วยชุด ATK แต่ภาพรวมการคลายล็อกให้กลับมาเปิดร้านอาหารทำให้ธุรกิจดำเนินไปต่อได้

ขณะเดียวกัน ต้องบริหารจัดการต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่าย อาทิ พัฒนาทักษะดึงศักยภาพพนักงานให้ทำได้หลายหน้าที่ ควบคุมการสูญเสียวัตถุดิบ เจรจาค่าเช่าที่เหมาะสม เตรียมแผนสำรองหากเกิดระบาดหนักขึ้นอีก และเน้นยืดหยุ่นและบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจกระจายความเสี่ยง

ค่ายมือถือเปิดพร้อมห้าง

รายงานข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า เอไอเอสและเทเลวิซ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมต้อนรับลูกค้ามาใช้บริการที่เอไอเอส ช็อป และร้านเอไอเอส เทเลวิซ ในห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์

ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 ภายใต้มาตรฐาน D-M-H-T-T ที่ได้รับการรับรองจากกรมอนามัย ผ่าน Thai Stop COVID Plus และแพลตฟอร์ม Thai Safe Thai ที่ครอบคลุมทั้งความสะอาดของสถานประกอบการและการประเมินสุขภาพของพนักงาน

ขณะที่กลุ่มทรูและดีแทค ก็เตรียมเปิดศูนย์บริการในห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ 1 ก.ย.เช่นกัน ควบคู่ไปกับการเปิดพ็อปอัพสโตร์ หรือศูนย์บริการชั่วคราวนอกห้างที่ได้เปิดดำเนินการในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา

แบงก์ทยอยเปิดสาขาในห้าง

ส่วนสถาบันการเงิน นายกฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยเปิดสาขาในห้างตั้งแต่ 18 ส.ค. หากเป็นสาขาที่อยู่ในโซนแบงก์จะเปิดครบทุกสาขา

ยกเว้นสาขาเซ็นทรัลพระราม 2 ที่อยู่คนละชั้นกับโซนแบงก์ของห้าง และตั้งแต่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป สาขาในห้างจะให้บริการ 7 วัน จากเดิม 5 วัน (จันทร์-ศุกร์) ปิดเวลา 17.00 น.

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่ลูกค้าบุคคล ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นแบงก์ทยอยเปิดสาขาในห้างมากกว่าเปิดครั้งเดียวทั้งหมด และหลังคลายล็อกการเปิดให้บริการจะมีเพิ่มขึ้นอีก ในส่วนของ ttb ที่มีสาขาในห้างกว่า 100 แห่ง ทยอยเปิดไปแล้วกว่า 80 แห่ง หลังจากนี้จะทยอยเปิดจนครบทุกสาขา

ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ก็พร้อมเปิดให้บริการสาขาในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ใน 29 จังหวัด ตั้งแต่ 1 ก.ย.เช่นเดียวกัน

บิ๊กธุรกิจเดินหน้า WFH

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายยังมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home : WFH) อาทิ บมจ.ปตท ให้ WFH ถึง 30 ก.ย. 64 ก่อนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์


ล่าสุดให้พนักงาน WFH ถึง 15 ก.ย. บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ให้ WFH กับปรับการทำงานเป็นแบบ hybrid พนักงานที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศขออนุญาตเป็นรายกรณี เช่นเดียวกับ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี