อิปซอสส์ ชี้โควิด-เศรษฐกิจตกต่ำ ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยดิ่งสุดอาเซียน

โควิด-เศรษฐกิจตกต่ำ ทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยรั้งท้ายอาเซียน ชี้สถานะการเงินคนไทยย่ำแย่ เร่งรัดเข็มขัด งดซื้อสินค้ามูลค่าสูง บ้าน-รถยนต์ แนะแบรนด์ใหม่เลื่อนเปิดตัวหวั่นแป้ก ขณะที่สุขภาพจิตคนไทย 6 เดือนลดฮวบเป็นประวัติการณ์ ยอดฆ่าตัวตายเทียบวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

วันที่ 3 กันยายน 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องและลากยาวตลอด 2 ปี ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล และกระทบจนถึง “ดัชนีความเชื่อมั่น” ที่เป็นคีย์หลักในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นฟันเฟืองหนุนภาพรวมจีดีพีในประเทศให้เติบโตต่อไปได้

จึงเป็นที่มาที่ “อิปซอสส์” ทำการวิจัยชุดพิเศษ “วิกฤตการณ์โควิด 4 ระลอก กับการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และทัศนคติ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมปัจจัยเพื่อการปรับตัวและวางแนวทางให้กับภาคธุรกิจ และภาครัฐ” ในตลาดสำคัญ 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย ในกลุ่มประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 3,000 คน ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำการวิจัยตลาด เปิดเผยว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยมีแนวโน้มดิ่งลงต่อเนื่องในระลอกที่ 1 และตกต่ำที่สุดในระลอกที่ 3 ต่อเนื่องระลอกที่ 4 หรือตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ทองหล่อจนถึงปัจจุบันที่มีอัตราการติดเชื้อสูงจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อทะลุถึงหลักหมื่นคน

ทั้งนี้ ความกังวลหลัก ๆ ของผู้บริโภคไทยยังคงเป็นเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตท่ามกลางสถานการณ์โควิด 

ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค คือ ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ โดยผู้บริโภคไทยกลายเป็นประเทศที่มีความมั่นใจเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจในประเทศตนเองรั้งท้ายผลการสำรวจ ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับสูงที่สุด

และ 1 ใน 3 ของคนไทยกว่า 64% ยังรู้สึกว่าสถานะการเงินของตนเองเข้าขั้นย่ำแย่มาก ส่งผลให้ในช่วงนี้คนไทย 80% ยังคงระมัดระวังการใช้เงินอย่างรัดกุม และตัดการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น อาทิ สิ่งของที่มีมูลค่าสูงอย่างรถยนต์หรือบ้าน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ มีอัตราลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 3 

ส่วนพฤติกรรมการจับจ่ายที่มีการซื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน คือ กลุ่มสินค้าเพื่อนำไปประกอบอาหารที่บ้าน  กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล ซึ่งล้วนสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ยังกระทบต่อการเลือกเปิดใจลองสินค้าใหม่ของแบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้น ในช่วงนี้อาจจะยังไม่เหมาะกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาคธุรกิจนัก เพราะอาจเปิดตัวแล้วได้รับผลตอบรับค่อนข้างน้อย จึงควรชะลอหรือเลื่อนการเปิดตัวออกไปก่อน นอกเสียจากว่าสินค้าตัวดังกล่าวจะสอดรับกับพฤติกรรมและเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในช่วงนี้จริง ๆ 

นอกจากนี้ ปัจจัยโควิด-เศรษฐกิจถดถอย ยังส่งผลกระทบไปถึงความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การรวมญาติ  ออกไปทานอาหารนอกบ้าน และท่องเที่ยวในประเทศ  

โดยสัดส่วนของกิจกรรมที่ทำการสำรวจ คือ ไปเยี่ยมญาติและเพื่อนถึงบ้าน  41% ท่องเที่ยวภายในประเทศ  32%  ไปภัตตาคาร-ร้านอาหาร 28% ใช้บริการขนส่งมวลชน 26% ไปโรงยิมหรือสถานออกกำลังกาย 24% ร่วมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม 22% ท่องเที่ยวต่างประเทศ 20% ตามลำดับ

ส่วนกรณีมาตรการการออกรับประทานอาหารนอกบ้าน อาจต้องมีการฉีดวัคซีนให้ครบ หรืออาจต้องตรวจ ATK นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น ประเด็นดังกล่าว นางสาวอุษณาแสดงทรรศนะว่า อาจส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคบางส่วนงดการเดินทางออกข้างนอก เนื่องจากความยุ่งยาก ในขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนอาจยังยินดีเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อต้องการผ่อนคลายนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงในแง่ของความเจ็บป่วยทางจิต จากการที่ประชาชนต้องอยู่ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดมาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง พบว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา คนไทยมีอัตราเสียสุขภาพจิตอย่างรุนแรง และถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โดยสังเกตได้จากอัตราการฆ่าตัวตายเทียบเท่ายุควิกฤตการเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 ยิ่งกว่านี้ความล่าช้าของวัคซีนและข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ตลอดจนข่าวบิดเบือนที่แพร่กระจายขยายวงกว้าง ได้สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน กลายเป็นสาเหตุหลักของการลังเลใจในการรับวัคซีน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ พร้อมใจรับการฉีดวัคซีนทันทีที่ให้บริการ แต่ประเทศไทยกลับตรงข้าม เห็นได้จากอัตราความลังเลใจที่ลดลง  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างระลอก 3 กับระลอก 4 ที่ 79% และ 69%  ติดลบ 10% ดังนั้น จึงนำมาซึ่งความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้  

ประเด็นที่ประชาชนคนไทยคาดหวังสูงสุดจากภาครัฐ 5 อันดับแรก ได้แก่ 56% มาตรการป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด, 36% ควบคุมราคาสินค้าและบริการตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ, 34% สร้างงานคุ้มครองการจ้างงาน, 26% มาตรการการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน  และ 24% สร้างงานและคุ้มครองการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

ส่วนความคาดหวังจากภาคธุรกิจ หลัก ๆ คือ ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจจะต้องนำมาพิจารณา เพื่อเตรียมแผนการรองรับใน 6 เดือนต่อไป โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้  53% ป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด, 46% ควบคุมราคาสินค้าและบริการ, 41% จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมให้พนักงาน, 30%  มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการสร้างงาน  และ 29% ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการอุดหนุนสินค้าของพ่อค้าในท้องที่