“ญนน์” เปิดโมเดล 3 ประสาน “รัฐ-เอกชน-ประชาชน” จิ๊กซอว์ฟื้นเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์

 

หลัง ศบค.คลายล็อกมาตรการโดยให้หลายกลุ่มธุรกิจเริ่มกลับมาให้บริการภายใต้มาตรการ ป้องกันโรคส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และมาตรการองค์กร “ปลอดโควิด” ทำให้เป็นที่น่าจับตามอง ว่าการเปิดเมืองรวมไปถึง นโยบายเปิดประเทศ ภายใต้สถานกาณ์ที่ค่อนข้างระอุ จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ถึงความพร้อมของกลุ่มค้าปลีกไทยในการเปิดให้บริการนับจากนี้ พร้อมจับตาสัญญาณชีพเศรษฐกิจไทยภายหลังคลายล็อกระลอกล่าสุด

“ญนน์” ฉายภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาว่า เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ประกอบการทุกรายต่างลงทุนและมีค่าใช้จ่ายในเรื่องมาตรการความสะอาดและความปลอดภัย แต่เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อเร่งการเปิดประเทศ เปิดธุรกิจได้อย่างปลอดภัย ทางสมาคมและผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อให้เราปลอดจากโควิดได้เร็วที่สุด และนำไปสู่การฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

โดยสมาคมค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่ายมีการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการ ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือร่วมกันกับกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดมาตรการในเรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการร่วมกัน เพื่อสามารถทำให้การเปิดเมือง เปิดห้างอย่างปลอดภัยเกิดขึ้นได้จริง พร้อมยกระดับมาตรการขั้นสูงสุด เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูธุรกิจของผู้ประกอบการและร้านค้าที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ ให้กลับมามีรายได้ และช่วยพยุงการจ้างงานของแรงงานในระบบค้าปลีกและบริการ

เศรษฐกิจดิ่ง ปัญหาหลังโควิด

ซึ่งภายหลังภาครัฐได้มีการเปิดเมืองในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แม้วิกฤตโควิดที่กำลังค่อย ๆ คลี่คลายจะทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นแผลลึกและใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษา นั่นคือสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงเป็นสเต็ปถัดไป ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวลงลึกกว่านี้

โดยมองว่าหากทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันเยียวยาและฟื้นฟูโดยการเปิดเมือง เปิดธุรกิจก็จะทำให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (local consumption) มากขึ้น ทำให้ธุรกิจของ SMEs ฟื้นตัวเร็วขึ้น และเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันการเปิดประเทศ เปิดเมืองให้ปลอดภัยต้องทำควบคู่ไปกับการออกมาตรการเยียวยา และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพื่อทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบเร่งด่วน โดยหัวใจหลักของการร่วมกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจเพื่อป้องกันไม่ให้ดิ่งเหวนับจากนี้ มองว่าการทำงานต้องแบ่งเป็นการร่วมมือของ 3 ภาคส่วนหลัก ๆ ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ที่เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์สำคัญ 3 ชิ้นที่ต้องต่อเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบ ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้

“ภาครัฐ” นโยบายมหภาค

โดยส่วนแรกมองว่าเป็นเรื่องของ “ภาครัฐ” ที่จะต้องเข้ามาเยียวยาพลิกฟื้นแกนหลักของประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งประการแรกที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำเข้าและกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเวลาและแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงการนำ ATK เข้ามาให้เพียงพอในราคาที่เข้าถึงได้ และยังต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และนำเข้า ATK ในปีหน้าด้วย

ขณะเดียวกันก็ต้องมีการช่วยเหลือในภาคการเงิน ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาหนี้ธุรกิจ และหนี้ครัวเรือน ควรจะต้องยืดเวลาชำระหนี้ ผ่อนผัน ปรับลด และยกเลิกดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดให้เหลือแต่เงินต้นเท่านั้น นอกจากนี้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นการสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีตัวคูณ (Multiplier) กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (Co-Payment)

พร้อม ๆ กับการเร่งเสริมสภาพคล่องและแต้มต่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan รวดเร็วและทั่วถึง โดยลดขั้นตอนและเงื่อนไขให้อนุมัติเงินกู้ง่ายขึ้น

อีกฟากคือการเรียกความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากศักยภาพการลงทุนในประเทศไม่ได้ถูกกระทบ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางการค้าของผู้ประกอบการไทย นอกเหนือจากการปกป้องอาชีพสงวนสำหรับคนไทย รัฐบาลจะต้องระวังการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติในโลกของ New Economy ซึ่งมี Business Model ที่ไม่มีต้นทุน และพร้อมที่จะใช้เงินซื้อตลาดโดยขายต่ำกว่าทุน ทำให้แบรนด์คนไทยและอุตสาหกรรมไทยเสียหายได้ในที่สุด

และจะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Consumption) ผ่านโครงการ Hug Thais กิน เที่ยว ใช้ สินค้าและบริการของคนไทย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้โดยตรงให้กับ SMEs ไทย และออกนโยบายที่ตรงจุด เพื่อกระตุ้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงให้มาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ไม่ควรจำกัดวงเงินเพียง 50,000 บาท แต่ควรขยายให้ถึง 500,000 บาท เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

“รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่น มาตรการทางภาษี ให้เอกชนสามารถหักภาษีได้ 3 เท่า รวมถึงให้หักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุข”

แนะเอกชนรายใหญ่อุ้มรายย่อย

หัวเรือใหญ่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังแนะส่วนต่อมาคือ “ภาคเอกชน” ว่าบริษัทใหญ่ให้การช่วยเหลือบริษัทเล็ก โดยการสนับสนุนช่วยเหลือกันในกลุ่มธุรกิจในวงกว้างมากขึ้น เช่น โครงการพี่ช่วยน้อง ช่วยเหลือ SMEs ในเครือข่าย Supply Chain ขององค์กรนั้น ๆ ทั้งเรื่องระบบปฏิบัติงาน การเงินและเสริมสภาพคล่อง รวมถึงความรู้ทางด้านเทคโนโลยี เพื่อพยุงธุรกิจ และรอดไปด้วยกัน โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการดี และทำกำไรในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยังมีความพร้อมและศักยภาพในการลงทุนสูง ควรเร่งการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ด้านกลุ่มธุรกิจส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญที่เติบโตได้ดี ต้องเร่งเดินเครื่องอย่างเต็มที่เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งประเทศ ควบคู่กับการพยุงการจ้างงาน และสร้างงานให้เพิ่มขึ้น ภายใต้การยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ภายในองค์กรขั้นสูงสุด เพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การทำ Bubble and Seal การมีนโยบาย Work From Home เป็นต้น

ภาคประชาชน ภูมิคุ้มกันหมู่

อย่างไรก็ดี มาตรการทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมาจะไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นประเทศเลย หาก “ภาคประชาชน” ไม่ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง คนในครอบครัว และชุมชน การ์ดต้องไม่ตก การให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้การร่วมกันรณรงค์ให้ใช้ของไทย กินและเที่ยวในเมืองไทยให้มากขึ้น คืออีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการปลุกจิตสำนึกจนนำไปสู่การกินของไทย ใช้ของไทย ที่จะสะท้อนไปยัง SMEs และผู้ผลิตทั่วประเทศ

ท้ายที่สุดมาตรการทั้งหมดไม่ใช่มาตรการถาวรที่จะต้องนำมาใช้ทุกโอกาส หากแต่คงต้องจับตาสถานการณ์หลังเปิดเมือง 1 ก.ย.อีกสักระยะ ถึงความคืบหน้าทั้งภาคกำลังซื้อ อารมณ์การจับจ่าย และการระบาดจะลดลงมากน้อยเพียงใด จึงจะสามารถปรับแก้ได้ทันท่วงที