“ซี.พี.” จัดทัพธุรกิจค้าปลีก สปีดขยายสาขาทั่วภูมิภาค-จ่อบุก O2O

เครือ ซี.พี.ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก พร้อมเร่งเครื่องขยายธุรกิจในต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งในต่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาค พร้อมต่อยอดธุรกิจออนไลน์ ออฟไลน์ “ศุภชัย เจียรวนนท์” มั่นใจธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของไทยบนเวทีโลก

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เครือ ซี.พี.ตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสาขาของสยามแม็คโคร และศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่น ๆ ในเครือ ซี.พี.จากปัจจุบันมีธุรกิจค้าปลีก และค้าส่งในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ภายใต้แบรนด์ และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมประมาณ 337 แห่ง

ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของไทยบนเวทีระดับโลก และสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือ ซี.พี.

“เพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน เราต้องตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจต่าง ๆ ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะทำให้สยามแม็คโครกลายเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด”

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการตัดสินใจต่าง ๆ และยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ก็คือ จะช่วยทำให้แม็คโครและโลตัสมีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว (agility) ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับนานาชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท สยามแม็คโคร บริษัท ซีพี ออลล์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการโอนหุ้นโลตัส เพื่ออยู่ภายใต้บริษัท สยามแม็คโคร

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท สยามแม็คโคร เห็นชอบนำเสนอในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นกลางเดือนตุลาคมจะถึงนี้ ขอเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จาก 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท โดยการเปิดขายหุ้นใหม่ จำนวน 6,372,323,500 หุ้น ที่ราคาพาร์ หุ้นละ 0.5 บาท ซึ่งในจำนวนนั้น จะเป็นการเปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 1,362,000,000 หุ้น เพื่อเดินหน้าตามแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และแผนธุรกิจอื่น ๆ

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร กล่าวว่า ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของประชาชนทั่วไปเป็น 2 เท่า จาก 7% เพิ่มเป็นมากกว่า 15% ขณะที่การถือหุ้นของเครือ ซี.พี.จะลดลงจาก 93% เหลือประมาณ 85%

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่

ขณะที่นายศุภชัยกล่าวว่า “พนักงานทั้งหมด ผู้บริหาร การจัดการ และงานประจำวัน ฟอร์แมตธุรกิจ ซัพพลายเออร์ จะยังคงอยู่และดำเนินการเช่นเดิม โดยการปรับโครงการธุรกิจครั้งนี้ จะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องบุคลากร และจะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของบริษัท”

นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกที่เกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือ ซี.พี.เพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตโควิด

การขยายช่องทางค้าปลีกในตลาดโลกให้มากขึ้นสำหรับสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสด คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันการเป็น “ครัวของโลก (kitchen of the world)” โดยร้านค้าของเครือ ซี.พี.จะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็ก ๆ จากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดใหม่

“เราจะใช้ร้านค้าของเราเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้สัมผัสกับสินค้าไทยก่อน หลังจากนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องพิสูจน์ตนเอง ด้วยคุณภาพ การกำหนดราคา และการตลาด เพื่อสามารถแข่งขันต่อไปได้” นายศุภชัยกล่าว


ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล จากการที่ธุรกิจค้าปลีกของไทยสามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม จากสมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกระดับแลนด์มาร์กในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี อาจจะยังไม่สามารถเทียบกับยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกระดับโลกได้ โดยที่ขนาดของธุรกิจ (scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด เป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกไทยในการแข่งขันระดับโลก