แพทย์ชนบทจี้ สปสช.-กรมบัญชีกลาง สอบทุจริตจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด

แพทย์ชนบท ส่งหนังสือ-แนบ 6 หลักฐานส่อทุจริตจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด จ่าตรงถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง-เลขาธิการ สปสช. ร้องสอบละเอียด พร้อมเตรียมส่งจดหมายถึง ผอ.รพ.ราชวิถี-สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน-อธิบดีกรมการแพทย์ ด้าน บอร์ด สปสช. ภาคประชาชน เร่งนำเรื่องหารือด่วนวันนี้

วันที่ 6 กันยายน 2564 ดีล ATK เล่อปู๋ 8.5 ล้านชุด ส่อแวววุ่นอีกระลอก หลังชมรมแพทย์ชนบท ตลอดจนหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้างโครงการประมูลดังกล่าวที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เซ็นสัญญากับเวิล์ดเมดิคอลฯ แทนออสแลนด์ผู้ชนะประมูลว่าสามารถทำได้หรือไม่

แม้ภายหลังทั้งองค์การเภสัชฯ และเวิล์ดเมดิคอลฯ จะออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าการลงนามดังกล่าวไม่ขัดต่อข้อกฎหมายใด ๆ เนื่องจากเวิล์ดเมดิคอลได้รับอำนาจในการเป็นตัวแทนจากออสท์แลนด์อย่างเป็นทางการ ส่วนการประมูลโดยใช้ชื่อออสท์แลนด์นั้น เพราะเป็นการกระทำในนามบริษัทเดียวกันก็ตาม

ล่าสุด นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำหนังสือเรื่อง “ขอให้ตรวจสอบกรณีส่อทุจริจการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้นขององค์การเภสัชกรรม” ส่งตรงถึง 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการ สปสช. และกรมบัญชีกลาง

พร้อมกันนี้ ได้แนบเอกสาร 6 ชุด ดังนี้

1.ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การเภสัชกรรม หัวข้อ “อภ.ยันซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR ที่ สปสช. กำหนด” ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เผยแพร่ใน https://www.gpo.or.th/view/478

2.แบบเชิญยื่นซองเสนอราคาที่องค์การเภสัชกรรมส่งให้บริษัทออสท์แลนด์แคปปิตอลจจำกัด

3.ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การเภสัชกรรม หัวข้อ “องค์การภัชกรรม (จีพีโอ) จัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ได้บริษัทแล้ว เร่งส่งมอบให้สปสช.ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้” ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เผยแพร่ใน https://www.gpo.or.th/view/475

4.ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การเภสัชกรรม หัวข้อ “องค์การเภสัชกรรม(จีพีโอ) ชี้แจงย้ำผู้ยื่นซองราคา ATK 8.5 ล้านชุด คือ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล ฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท ออสท์แลนด์ ฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ” ลงวันที่ 2 กันยายน 2564 เผยแพร่ใน https://www.gpo.or.th/view/491

5.ภาพถ่ายภายในห้องในวันที่มีการเปิดซองประมูลจำนวน 4 ภาพ

6.ข้อสังเกต 7 ประเด็นการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ของ อภ. ผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง โดยคุณรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก ด้วยการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด โดยองค์การเภสัชกรรม มีข้อสังเกตที่ส่อไปในทางการดำเนินการที่ส่อทุจริต

เนื่องจากบริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัทออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิด “ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560”

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า ใน 6 ประเด็นข้างต้นมีข้อเท็จจริงที่สำคัญ ดังนี้

1.ระเบียบฯ ข้อ 74 กำหนดว่า “ให้คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือกจัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ”

และ “เมื่อถึงกำหนดวันเวลาการรับซองข้อเสนอ ให้รับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเฉพาะรายที่
คณะกรรมการได้มีหนังสือเชิญชวนเท่านั้น”

ซึ่งมีความชัดเจนว่า “องค์การเภสัชกรรมได้แถลงว่า ได้ส่งหนังสือ เชิญไปยังผู้ประกอบการทั้งสิ้น 24 บริษัท โดยเป็นผู้จัดจำหน่ายจำนวน 19 บริษัท

หลังการมีการตรวจสอบคุณภาพ พบว่ามีผู้สามารถเปิดซองแข่งขันได้ 16 บริษัท” (เอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และมีการเปิดซองต่อผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด มีการบันทึกวิดิทัศน์ไว้ทั้งหมดตั้งแต่การยื่นซองจนเปิดซอง

ทั้งนี้หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับเชิญให้ไปยื่นซองคือบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตัล จำกัด (เอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 2) โดยรายชื่อ 24 รายชื่อที่ทางองค์การเภสัชกรรมไม่ได้เชิญบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ เข้าร่วมการยื่นซองด้วย

2.เมื่อมีการเปิดซองการประมูล องค์การเภสัชกรรมก็ได้ประกาศชัดเจนว่า “ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด หรือผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด” (เอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 3)

อีกทั้งสาธารณะและสื่อมวลชนที่ตามข่าวต่างก็รับรู้ว่าบริษัท ออสท์แลนด์ฯ คือผู้ชนะการประมูล โดยมีบริษัทบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายและเป็นผู้ลงทุนให้ แต่ไม่ปรากฏข่าวว่าเป็นผู้ยื่นซองประมูลแต่อย่างใด

3.ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 องค์การเภสัชกรรมได้ลงนามสัญญากับบริษัท เวิลด์เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

ซึ่งในภายหลัง คือ ในวันที่ 2 กันยายน 2564 ทางองค์การเภสัชกรรมจึงได้มีการชี้แจงว่า “บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ยื่นซองราคาชุดตรวจ ATK โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด” (เอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 4) ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะในช่วงเวลาก่อนหน้านี้

4.ภาพถ่าย 4 ภาพ (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) ในห้องที่ทำการเปิดซองประมูล ได้แสดงกระดานเขียนผลการ ประมูล ซึ่งชัดเจนว่าลำดับที่ 11 คือบริษัทออสท์แลนด์

เมื่อเทียบเคียงกับลำดับที่ 9 คือ DKSH และ ลำดับที่ 10 ดีซีเอชออริก้า ทั้งคู่เป็นผู้แทนจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ Roche และ Abbott ตามลำดับ แล้วบนกระดานไม่ได้เขียนชื่อบริษัท Roche หรือ Abbott ก็เพราะเจ้าหน้าที่เขียนชื่อผู้ที่มายื่นซองตามที่ได้รับเชิญตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งคือบริษัทออสท์แลนด์ฯ ไม่ใช่บริษัทเวิลด์เมดิคอลฯที่มากล่าวอ้างในภายหลัง

ข้อเท็จจริงทั้ง 4 ประการนั้น ประกอบข้อสังเกตของคุณรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก (สิ่งที่ส่ง มาด้วย 6) ต้องการการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่า การจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5 ล้านชุดในครั้งนี้ มีการลงนามในสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่

ชมรมแพทย์ชนบทกล่าวด้วยว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรมบัญชีกลางและ สปสช. จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

หากมีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีการทุจริต หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนอย่างผิดกฎหมาย ก็ขอให้กรมบัญชีกลาง หรือ สปสช. สั่งยุติกระบวนการต่าง ๆ ในทันที เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนให้น้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นอกจากชมรมแพทย์ชนบทจะยื่นหนังสือร้องเรียนถึงเลขาธิการ สปสช. และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีส่อทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดดังกล่าว

ยังมีกระแสข่าวว่าชมรมแพทย์ชนบทจะยื่นจดหมายดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และอธิบดีกรมการแพทย์ ที่เป็นต้นสังกัดของ รพ.ราชวิถี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รวมไปถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วย

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้ (6 ก.ย.) กรรมการบอร์ดภาคประชาชน จะนำเรื่องนี้เข้าเสนอต่อการประชุมบอร์ดด้วย