กรมวิทย์ฯ จับตาโควิดสายพันธุ์ “มิว” ไทยสกัดตรวจพันธุกรรมไวรัสลากยาวยันสิ้นปี

นพ.ศุภกิจ

กรมวิทย์ ชี้ทั่วโลกจับตาโควิดกลายพันธุ์ “มิว” หวั่นดื้อวัคซีน ไทยเข้มสกัดตรวจพันธุกรรมไวรัสลากยาวยันสิ้นปีทะลุหลักหมื่นตัวอย่าง กางแผนกระจายพื้นที่-กลุ่มตรวจหวังดักโควิดทั่วไทย

วันที่ 6 กันยายน 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโควิด 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ เดลตา อัลฟ่า และเบต้า ซึ่งได้กระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว และส่วนใหญ่ยังคงเป็นเดลตา ขณะที่เบต้าพบในบางพื้นที่โซนภาคใต้เท่านั้น ใน กทม. และบึงกาฬเคยพบ 1 ครั้ง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังไม่มีรายงาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีตรวจไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านตัวอย่าง ผ่านวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งหากนับรวมทุกการตรวจน่าจะถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว

อย่างไรก็ดี หากกล่าวถึงในระดับโลกอย่างขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีการจัดลำดับชั้นการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เช่น มีแนวโน้มดื้อวัคซีน หรือแพร่พันธุ์ได้เร็ว เป็นต้น ซึ่งจะถูกเรียกว่า Variants of Concern (VOI) ก่อน สำหรับชั้นที่น่ากังวลหรือ Variant of Concern (VOC) ขณะนี้มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า เดลตา เบต้า และแกรมมา

สายพันธุ์แกรมมา (บราซิล) เคยพบในประเทศได้ แต่อยู่ในสถานกักกัน ไม่ได้แพร่ออกมาสู่ภายนอก ดังนั้น สวายพันธุ์ที่น่าห่วงจึงแพร่อยู่ในไทยเพียง 3 สายพันธุ์ คือ เดลตา อัลฟ่า และเบต้า ส่วนสายพันธุ์มิว (MU) ที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนี้ ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล ขณะที่อีกสายพันธุ์คือ C.1.2 ยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ที่น่าสนใจและน่ากังวลใด ๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการตรวจพบว่า เกิดการกลายพันธุ์ในจุดตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบต้า แกรมมา อาทิ E484K ซึ่งสามารถหลบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อวัคซีนได้ โดยมีทั้งส่วน N501Y ของอัลฟ่าเดิมที่แพร่เร็ว

ดังนั้น การกลายพันธุ์ในหลาย ๆ ตำแหน่ง ทำให้ C.1.2 ต้องจับตาดู แต่ขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด โดยทั้งโลกพบมากในแอฟริกาใต้เพียง 117 รายคิดเป็น ร้อยละ 85 ของที่เจอทั้งหมด แต่ไม่ได้แปลว่าแอฟริกาใต้มีทั้งร้อยละ 85 แต่อาจมีอยู่นิดหน่อยและสายพันธุ์อื่น ๆ ร่วมด้วย

ซึ่งสายพันธุ์นี้มีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังไม่ต้องกังวล เนื่องจาก เราเจอร้อยละ 3 เท่านั้น สายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา ที่สำคัญประเทศไทยมีการเฝ้าระวังมาตลอด ปัจจุบันยังไม่เจอสายพันธุ์นี้ประเทศ

สำหรับสายพันธุ์มิว Mu (B.1.621) ทั่วโลก ยังพบน้อยมาก ร้อยละ 0.1 แบ่งเป็นสหรัฐอเมริกา 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบีย 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง มีญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังไม่ได้พบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยพบในโคลัมเบียเป็นที่แรก ประมาณร้อยละ 40 ส่งผลให้ปัจจุบันพบแล้วกว่า 39 ประเทศ องค์การอนามัยโลกจัดอันดับเป็น VOI ทำให้ต้องติดตามสายพันธุ์มิวอย่างใกล้ชิดต่อไป

เนื่องจาก มีการกลายพันธุ์ที่พบว่า หลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม ที่ส่งผลให้ Antigenic change ได้แก่ E484K แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องอื่น

ส่วนอัตราการแพร่เร็วนั้น จากข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันเมื่อเทียบกับเดลต้า ส่วนติดเชื้อง่ายหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ขณะที่หลบภูมิต้านทานก็อาจมีปัญหา แต่วันนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ป่วยแล้วกลับมาป่วยอีกมากน้อยแค่ไหน โดยรวมจึงยังไม่น่าวิตก แต่เรายังติดตามต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้เฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละกว่า 1,000 ราย รวมการตรวจ RT`PCR และตรวจจีโนมทั้งการเฝ้าระวังในประเทศจากคลัสเตอร์ต่าง ๆ และกลุ่มต่างประเทศบริเวณชายแดน ซึ่งก็ได้ตรวจมากขึ้นและกระจายพื้นที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันหากมีการติดกันเป็นกลุ่มก้อนมาก ด้วยลักษณะแปลก ๆ อาจมีการสุ่มตรวจเพื่อหาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจหลุดเข้ามาได้ จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความชุกของไทย จากอดีตตรวจกรุงเทพฯ มาก ตรวจต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องดักให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศได้

พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจากนี้ไปถึงเดือนธันวาคม 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ะละพื้นที่ไปตรวจ

ปัจจุบันจะมีการตรวจมากขึ้น โดยการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว มีที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจประมาณ 9,000 ตัวอย่าง และเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.รามาธิบดี อีกราว 4,000 ตัวอย่าง

ควบคู่กับการประสานศูนย์ข้อมูลระดับโลก จีเสส (GISAID) ผ่านการรายงานทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อย ๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก็ได้

ดังนั้น อย่าตกใจ สำหรับสายพันธุ์ที่เราเคยแถลงก่อนหน้านี้ คือ AY ของเดลตานั้น มี AY 12 เพิ่มเล็กน้อย แต่จีเสส บอกว่า ตัวเลขรหัสอาจไม่ถูกต้อง จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน และจะชี้แจงอีกครั้งว่า ลูกของเดลตาไปถึงไหน อย่างไร แต่วันนี้ไม่มีปัญหา การรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม