รสนาส่งหนังสือจี้นายก ดูแลจัดซื้อ ATK ให้ถูกกฎหมาย

“รสนา โตสิตระกูล” ส่งหนังสือจี้นายก-หน่วยงานรัฐ ระงับและดูแลการจัดซื้อ ATK ให้ถูกกฎหมาย หลังพบพิรุธส่อแววทุจิต ชี้องค์การเภสัชฯ ไม่สามารถเซ็นซื้อร่วมเวิลด์ เมดิคอลฯ เหตุไม่มีรายชื่อในการพิจารณาแต่แรก-ไม่มีหลักฐานร่วมทุนเป็นเครือเดียวกับออสท์แลนด์ฯ ระบุ สปสช. ห้ามจ่ายเงินให้ ลั่นผิดกฎหมาย

วันที่ 6 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีการตั้งข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5 ล้านชุด ส่อแววทุจริต และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 รวมไปถึงข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย 2561

ล่าสุด รสนาได้ระบุว่า ขณะนี้ตนได้ส่งหนังสือลงทะเบียนตอบรับถึงนายกรัฐมนตรีรายงานข้อเท็จจริงการจัดซื้อ ATK ที่ส่อว่าทุจริต พร้อมกับส่งสำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และเลขาธิการ สปสช. โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.)ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test  Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก 

และในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 อภ.ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคาปรากฏว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมองค์การเภสัชกรรมทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์  (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับหนังสือเชิญเข้าเสนอราคาและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 

แต่องค์การเภสัชกรรมชี้แจงยืนยันว่าผู้ยื่นซองราคา ATK 8.5 ล้านชุด คือ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 

ข้าพเจ้าเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK ขององค์การเภสัชกรรมน่าจะไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎหมายกับระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจทำให้รัฐเกิดความเสียหายในอนาคต 

ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตถึงความไม่สุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ATK ดังนี้

1.การจัดซื้อจัดจ้างขององค์การเภสัชกรรมต้องปฏิบัติตาม “ข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ. 2561” ซึ่งตามข้อ 23 (4) หากเป็นพัสดุที่ต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ ต้องเสนอผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเพื่อติดต่อสั่งซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ  จะจัดซื้อโดยวิธีอื่นไม่ได้ แต่การจัดซื้อ ATK ไม่ได้ใช้วิธีการสั่งซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งได้ราคาถูกกว่า แต่กลับใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งทำให้ได้ราคาสูง เพราะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงเป็นการจัดซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.ตามข้อ 11 (1) การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกต้องเป็นการจัดซื้อจากผู้ขายซึ่งผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีไว้กับองค์การเภสัชกรรม และตามข้อ 16 การคัดเลือกผู้ขายเพื่อขึ้นบัญชีไว้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 16 (1) ถึง (4) ด้วย

โดยเฉพาะตามข้อ 16 (2) (ค) ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อขึ้นบัญชีผู้ขายสินค้าให้องค์การเภสัชกรรม ต้องมีคุณสมบัติตามที่ “คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก” ขององค์การเภสัชกรรมกำหนดไว้

เมื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีผู้ขายไว้กับองค์การเภสัชกรรม และกรรมการพิจารณาคัดเลือกได้ส่งหนังสือเชิญให้บริษัท ออสท์แลนด์ฯ เข้าเสนอราคา

และบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ได้ยื่นซองเสนอราคาและได้รับการคัดเลือกโดยมีคะแนนสูงสุด องค์การเภสัชกรรมจึงต้องทำสัญญากับบริษัท ออสท์แลนด์ฯการทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

3.สรุปแล้วการจัดซื้อครั้งนี้ฝ่าฝืนกฎหมายคือ

3.1) ข้อบังคับฯ ข้อ 23 (4) คือองค์การเภสัชกรรมไม่สั่งซื้อโดยตรงจากผู้ขายในต่างประเทศซึ่งทำให้ได้ราคาถูกกว่าการสั่งซื้อโดยวิธีคัดเลือก

3.2) การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกไม่สามารถทำได้ เพราะต้องสั่งซื้อโดยตรงจากต่างประเทศตามข้อ 23 (4) ดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่เมื่อมีการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกก็เป็นการจัดซื้อที่ขัดต่อข้อ 16 เพราะในที่สุดองค์การเภสัชกรรมไม่ได้ทำสัญญากับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่องค์การเภสัชกรรมได้ขึ้นบัญชีผู้ขายไว้และเป็นผู้ชนะการคัดเลือก ข้ออ้างที่ว่าบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ตาม Certification of Authorized Distributor ไม่ทำให้บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯมีอำนาจทำสัญญากับองค์การเภสัชกรรม เพราะหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงให้สิทธิบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จำหน่าย ATK ให้ผู้ซื้อทั่วไป 

แต่การจำหน่ายให้องค์การเภสัชกรรมนั้น ผู้ขายต้องเป็นบริษัทที่องค์การเภสัชกรรมได้พิจารณาคัดเลือกและขึ้นบัญชีไว้ตามข้อบังคับ ข้อ 16 เมื่อบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯไม่ใช่บริษัทที่องค์การเภสัชกรรมได้ขึ้นบัญชีผู้ขายไว้และมิได้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก จึงไม่อาจเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้ 

และข้ออ้างที่ว่าบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯเป็น Joint Venture กับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ก็ไม่มีการนำหลักฐานการจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ต่อกรมสรรพากรและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีที่กรมสรรพากรออกให้มาแสดงแต่อย่างใด 

ประการสำคัญไม่มีการขอขึ้นบัญชีผู้ขายต่อองค์การเภสัชกรรมในนามของ “กิจการร่วมค้าออสท์แลนด์ฯและเวิลด์ เมดิคอลฯ” ซึ่งเป็นหน่วยภาษี (Tax Entity) แยกต่างหากจากบริษัท ออสท์แลนด์ฯหรือบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯตามกฎหมาย 

4.เมื่อการทำสัญญาซื้อขาย ATK ระหว่างบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯกับองค์การเภสัชกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จึงมิได้เป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรม 

ทั้งไม่อาจมีการรับมอบ ATK และ สปสช. ไม่อาจจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯได้ ขืนตรวจรับและจ่ายเงินไปย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผู้ต้องรับผิดทางอาญามีทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและผู้เกี่ยวข้อง ใช่หรือไม่

การที่ข้อบังคับ ข้อ 23 (4) กำหนดให้การจัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ องค์การเภสัชกรรมต้องเป็นผู้จัดซื้อเอง ซึ่งสามารถต่อรองราคาได้ ทำให้ได้ราคาถูกกว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  

แต่ฝ่าฝืนไม่จัดซื้อตามวิธีนี้ กลับไปใช้วิธีคัดเลือกซึ่งทำให้ต้องซื้อในราคาที่สูงกว่ามาก เพราะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ควรจ่าย ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าการสั่งซื้อ ATK ครั้งนี้ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช่หรือไม่ 

ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนให้องค์กรภายในคืออธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ แต่เนื่องจากจะมีการเดินหน้าส่งมอบสินค้า ATK ภายในวันที่ 7 กันยายนนี้ตามคำสัมภาษณ์ขององค์การเภสัชกรรมที่สื่อมวลชนได้รายงาน

ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน จึงขอร้องเรียนมาถึง ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในทุกหน่วยงานได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และเพื่อพิจารณาให้ยุติการรับมอบสินค้าและจ่ายเงินค่าสินค้าดังกล่าว ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินในท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินมหาศาล จึงไม่ควรมีการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ