ค้าปลีก-ร้านอาหารคึกคัก! ลุ้น “คลายล็อก” ปลุกจับจ่าย

จับกระแสตลาด

 

ถือเป็นสัญญาณบวก ที่ช่วยให้บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก-ร้านอาหารใจชื้นขึ้นมาไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้า สำหรับที่การเปิดให้บริการ หลังจากที่ ศบค.ประกาศคลายล็อกให้กลับมาให้บริการได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากที่ ศบค.ต้องประกาศใช้มาตรการเข้มงวดด้วยการสั่งปิดการให้บริการไว้ชั่วคราว เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ร้านอาหารคึกคักรับคลายล็อก

ส่าสุด เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (4-5 กันยายน) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการจับจ่าย พบว่า ศูนย์การค้าหลาย ๆ แห่ง อาทิ สยามพารากอน เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ตั้งแต่ช่วงสาย ๆ ไปถึงช่วงบ่าย บรรยากาศโดยรวมค่อนข้างคึกคัก มีรถยนต์ส่วนตัวขับเข้ามาในพื้นที่จอดรถอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ใช้บริการกลุ่มที่พบเห็นได้มากที่สุดเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก และผู้สูงอายุ รองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะมาทานอาหารในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร รวมถึงจับจ่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู อาหารญี่ปุ่น ร้านกาแฟ รวมถึงร้านจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์มือมือ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ มีผู้บริโภคต่อคิวใช้บริการจำนวนมากทั้งช่วงกลางวันและช่วงเย็น รองลงมาจะเป็นร้านไอศกรีม เช่น สเวนเซ่นส์ แดรี่ควีน และร้านเบเกอรี่ต่าง ๆ ขณะที่โซนคลินิกความงาม และร้านของใช้สำนักงาน โซนแฟชั่น ที่ลูกค้ายังบางตา

นอกจากโปรโมชั่นเพื่อจูงใจลูกค้าแล้ว มีร้านอาหารหลาย ๆ ค่าย ที่ติดป้ายประกาศไว้ที่บริเวณหน้าร้าน ระบุว่า “พนักงานร้านนี้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว” ขณะที่พนักงานก็ติดเข็มกลัด เพื่อแสดงว่าฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีร้านอาหารจำนวนหนึ่งที่ยังปิดบริการ (เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า) เช่น เอี้ยวไถ่สุกี้โบราณ, ฮองมิน, โอลด์สตรีต บัก กุด เต๋, ไก่กรอบป้าแก้ว และจุ่มกระจาย เช่นเดียวกับร้านมะละกอ และเอสแอนด์พี (เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน) เป็นต้น

รอประเมินสถานการณ์

ขณะที่ นางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “ซิซซ์เล่อร์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ถือว่าดีกว่าวันที่คลายล็อกเปิดให้นั่งทานวันแรก จากการมอนิเตอร์ก็พบว่าตอนนี้สาขาที่อยู่ในศูนย์การค้าบริเวณรอบนอก อาทิ เมกาบางนา เซ็นทรัล เวสต์เกต ได้รับการตอบรับดีมากกว่าศูนย์ที่อยู่ในเมือง อาทิ สยาม หรือเซ็นทรัลเวิลด์ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่มที่เล็ก ๆ 1-3 คน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นอาจจะยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ภาพรวมหรือรายได้ได้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากนี่เป็นช่วงเริ่มต้นของการให้นั่งทานอาหารในร้าน และต้องยอมรับว่าช่วงนี้ยังเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ลูกค้าจำนวนหนึ่งยัง work from home และสามารถออกมาทานมื้อกลางวันได้ ทราฟฟิกในวันธรรมดายังพอมีอยู่บ้าง หากเทียบกับเหตุการณ์ปกติที่ไม่มี work from home รายได้ส่วนใหญ่ก็จะมาจากช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

“หลังจากที่กลับมาเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้ อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า ยอดขายในช่องทางดีลิเวอรี่ลดลงประมาณ 20% ทำให้หลายแบรนด์จัดโปรโมชั่นดึงลูกค้าเข้าร้านอย่างหนัก”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมกำลังซื้อที่เกิดขึ้นในศูนย์การค้าภายหลังภาครัฐคลายล็อกให้เปิดบริการได้ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ยังเป็นเรื่องที่ยากจะประเมินเรื่องของกำลังซื้อ เพราะเพิ่งเปิดบริการได้เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพความคึกคักที่เห็นได้ชัดมาจากเพียงส่วนของร้านอาหาร ขณะที่ส่วนของร้านค้าอื่น อาทิ โซนบิวตี้ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง แฟชั่น ฯลฯ

ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยังอยู่ระหว่างการประเมินและจับตาดูสถานการณ์การจับจ่ายของประชาชน เนื่องจากปิดให้บริการมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องใช้เวลาในการประเมินอีกสักระยะ เบื้องต้น เรื่องของโปรโมชั่น หรือกิจกรรมการตลาด ยังไม่มีความจำเป็นมากนักในเวลานี้

คาดว่าอาจจะต้องรอให้ผ่านพ้นกลางเดือนกันยายนไปแล้วจึงจะสามารถประเมินทิศทางกำลังซื้อคร่าว ๆ ได้ และหลังจากนั้น ผู้ประกอบการแต่ละค่ายอาจจะต้องมีแคมเปญทางการตลาดออกมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปลุกอารมณ์การจับจ่าย หรือจะต้องเพิ่มเติมแคมเปญการตลาดอย่างไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งเร่งด่วนที่ศูนย์การค้าแต่ละแห่งจะต้องทำควบคู่กันไปก็คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free setting) ที่กรมอนามัยจะมีการกำหนดออกมาใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

“สิ่งที่ ศบค.คลายล็อกดังกล่าว ซึ่งตลอดเดือนกันยายนนี้ยังถือเป็นการทดสอบภาพรวมบรรยากาศ กำลังซื้อก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีน การสร้างมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่นใจ จากนั้นหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย บรรยากาศการจับจ่ายก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น”


อีกไม่นานเกินรอ หากโควิดอ่อนแรง คนไทยการ์ดไม่ตก บรรยากาศการจับจ่ายอาจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น