29 จังหวัดสีแดงเข้มฉีดวัคซีนทะลุ 50% สธ. คาดท้ายปีฉีดได้ตามเป้า

10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนเยอะที่สุด
ภาพจาก กรมควบคุมโรค

สธ. จับตายอดโควิดไทยต่อเนื่อง หวั่นแกว่งตัวสูงเหมือนอเมริกา เร่งสกัดเชื้อต่างประเทศ เข้มเฝ้าระวังสายพันธุ์มิว-C.1.2 เต็มกำลัง ชี้ยอดฉีดวัคซีน 29 จังหวัดแดงเข้มทะลุ 50% กรุงเทพสูงสุด 94% ขณะที่ 48 จังหวัดที่เหลือ 23% คาด 4 เดือนท้ายปีวัคซีนเข้าไทย ดันยอดฉีดตามเป้าหมาย 70% ประชากร

วันที่ 9 กันยายน 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การการติดเชื้อโควิดในระดับโลกวันนี้ (9 ก.ย.) อยูที่ 559,375 ราย และเสียชีวิต 9,205 ราย คิดเป็น 2.06% 

อันดับ 1 ยังคงเป็นอเมริกาที่มียอดการติดเชื้อที่ 1.3 แสนราย จากวานนี้ (8 ก.ย.) ติดเชื้อ 1.1 แสนราย ส่วนการเสียชีวิตวันนี้ขึ้นมาเป็น 1,400 คน จากเมื่อวานมีเพียงราว 300 คน สะท้อนได้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิดมีการแกว่งตัวสูง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของระบบการรายงานที่มีหน่วยรักษาเอกชนอยู่เยอะ และมีการทบของวันอื่น ๆ ร่วม 

ทั้งนี้ อัตราการขึ้นไต่อันดับของโควิดในระดับโลกยังคงมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากการแพร่ระบาดหนักในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ช่วงปลายปี 63-ต้นปี 64 ที่คลื่นระบาดโลกสอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อของสหรัฐอเมริกาและโซนยุโรป หรือในช่วง มี.ค.-เม.ย.64 ที่คลื่นการระบาดของโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกับการระบาดใหญ่ของอินเดียนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าประเทศใหญ่ ๆ มีผลต่อภาพรวมของโลกอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งในช่วงเดือน มิ.ย.-ปัจจุบัน การเข้ามาของสายพันธุ์เดลตา ดันอัตราการติดเชื้อโควิดเป็นขาขึ้นกันในทุกประเทศ โดยอเมริกาเป็นเดลตาแล้วกว่า 90% ยกเว้นอินเดียที่ผ่านจุดพีคไปแล้ว ด้วยประชาชนมีภูมิจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งคือมีการระดมฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ไทยจับตามองมากที่สุด คงไม่พ้นที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์มิว (Mu) และ C.1.2 อยู่  ซึ่งวันนี้จากต่างประเทศพบเชื้อเพียง 9 ราย และยังไม่มีการติดสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังดังกล่าว 

สำหรับประเทศไทยในวันนี้ติดเชื้อราว 1.6 หมื่นคน จึงมีข้อสงสัยว่าอาจเกิดการแกว่งตัวของผู้ติดเชื้อเหมือนอเมริกาหรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีการแกว่งเพียงวันเดียว ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากการจะระบุอัตราการแกว่งตัวสูงนั้น ยึดตามค่าเฉลี่ยเป็นหลัก

“จากนี้ไปต้องพิจารณาคลัสเตอร์ต่าง ๆ ร่วมด้วย หลังจากคลายล็อก 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ใน 2 สัปดาห์นี้ยังคงต้องดูและพิจารณาต่อไป เพื่อดูว่าจะมีการเปิดกอจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติมไหม”

อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกไปในรายละเอียดภาพรวมทั่วประเทศจะพบว่า แกว่งตัวเล็กน้อย โดยการติดเชื้อในเขต กทม.และปริมณฑล ทรงตัว หรือคิดเป็น 41% ของประชากร ขณะที่ต่างจังหวัดมีการเพิ่มสูงมากกว่าอยู่ที่ 59% 

ส่วนการค้นการเชิงรุกโดยสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงในวันนี้ (9 ก.ย.) อยู่ที่ 2,955 ราย รวมสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. ทั้งหมด 247,282 ราย และ กทม. จะมีการสุ่มตรวจในตลาดเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ ข่าวดีอีกประการคือจำนวนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจของไทยเริ่มลดลงจากวันที่ 2 ก.ย.อยู่ที่ 1,011 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 940 ราย 

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตในไทยวันนี้มี 220 คน ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึง 93% ส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 133 ราย เบาหวาน 86 ราย ไขมันในเลือดสูง 55 ราย โรคอ้วน 20 ราย โรคไต 30 ราย กลุ่มไม่มีโรคประจำตัวเสียชีวิตเพียง 7% และหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 0.4% ส่วนการเสียชีวิตที่บ้านมี 2 ราย อยู่ที่ชลบุรีและระยองเป็นการตรวจพบเชื้อหลังเสียชีวิต

ส่วนการฉีดวัคซีนในประเทศ ตอนนี้เข็มที่ 1 สูงถึง 26 ล้านโดส หรือคิดเป็น 36.5% ของประชากร ด้านเข็มที่ 2 ประมาณ 11 ล้านโดส คิดเป็น 15.6% ของประชากร โดยเข็มที่ 1 ไทยยังมีเป้าฉีดให้ครบคลุม 70% ถือว่ามาถึงครึ่งทางแล้ว

ด้านความครอบคลุมยังคงเน้นพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยเฉลี่ยแล้วฉีดไปได้แล้วกว่า 50% ของประชากร กทม.มากสุด 94% ส่วนพื้นที่สีแดงเข้มอื่น ๆ ลดหลั่นกันมา เช่น ปทุมธานี 56%, ฉะเชิงเทรา 57% เป็นต้น ส่วนอีก 48 จังหวัดที่เหลือเฉลี่ยฉีดไปแล้วราว 23% แต่คาดว่าการได้รับวัคซีนต่อเนื่องใน 4 เดือนสุดท้ายจะทำให้ฉีดได้ตามเป้าหมายที่ไทยกำหนดไว้