“รสนา” ซัด!! องค์การเภสัชฯ ชี้แจงจัดซื้อ ATK แบบศรีธนชัย ใช่หรือไม่

“รสนา โตสิตระกูล” ผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถาม อภ.แถลงจัดซื้อ ATK ได้ไม่ต้องอาศัย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เหตุมีข้อยกเว้นเป็นการชี้แจงแบบศรีธนชัย ใช่หรือไม่ ?

วันที่ 12 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” ตั้งคำถามถึงองค์การเภสัชกรรม โดยระบุว่า อภ.แถลงจัดซื้อ ATK ได้ไม่ต้องอาศัย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เหตุมีข้อยกเว้นเป็นการชี้แจงแบบศรีธนชัย ใช่หรือไม่ ?

คำแถลงขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่าจัดซื้อ ATK ได้ไม่ต้องอาศัย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ อ้างเหตุมีข้อยกเว้น!! น่าตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแถลงแบบศรีธนชัย ใช่หรือไม่เพราะไม่กล้าระบุให้ชัดเจนว่า อภ.ได้รับการยกเว้นให้สามารถทำสัญญากับบริษัทที่ไม่ได้เข้าสู่การเสนอราคาได้หรือไม่

ในคำปรารภของ “ข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจําหน่าย 2561” ระบุชัดเจนว่าว่าข้อบังคับนั้นต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2๕6๐

ข้ออ้างว่า อภ.ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 แต่ถึงอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของหน่วยงานเอง ในข้อบังคับขององค์การเภสัชข้อ11 (1) ระบุว่า

ข้อ 11 การซื้อโดยวิธีคัดเลือก ฯ (1) เป็นพัสดุเพื่อการผลิตและจําหน่ายที่ต้องซื้อจากผู้ผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีไว้

ข้อ 16 การคัดเลือกผู้ขายหรือผู้รับจ้าง เพื่อขึ้นบัญชีรายชื่อให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์
(2)(ค) คุณสมบัติของผู้ขายและหรือผู้ผลิตและหรือผู้รับจ้าง

การที่บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัดได้รับขึ้นทะเบียนและได้รับเชิญ 1ใน24 ราย ให้เข้าเสนอราคาและเป็น1ใน 16 รายที่ผ่านคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำหนดให้เข้าเสนอราคาและเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด และเป็นผู้ชนะการเสนอราคา แต่อภ.กลับทำสัญญากับบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผ่านการขึ้นทะเบียน ไม่ได้รับเชิญมาเสนอราคา และไม่ใช่เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ซึ่งผิดจากข้อบังคับของอภ. องค์กรพาณิชย์ แม้จะมีอำนาจอย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามข้อบังคับของหน่วยงาน ซึ่งข้อบังคับหน่วยงานก็ออกโดยอิงตามแนว พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ

ดังนั้นขอให้องค์การเภสัชกรรมกล้าๆออกมาแถลงให้ชัดเจนไปเลยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับการยกเว้นให้สามารถเปลี่ยนคู่สัญญาไม่ต้องทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทออสแลนด์ที่ชนะประมูล และสามารถเปลี่ยนมาทำสัญญากับบริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับอภ.ได้ ทั้งที่บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯไม่ได้รับเชิญเข้าเสนอราคา ไม่ได้เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ซึ่งถ้ากฎหมายยกเว้นให้องค์การด้านพาณิชย์อย่างรัฐวิสาหกิจทำได้ ต่อไปการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ระบุไว้ชัดแจ้งในข้อ 11(1)ว่าต้องเป็นการซื้อจากผู้ผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีไว้” สามารถยกเว้นกันได้ ใช่หรือไม่ การจัดซื้อภาครัฐคงจะทุจริตกันได้ง่ายๆ เพราะสามารถใส่ไส้ เปลี่ยนไส้บริษัทที่ไม่ได้เสนอราคามาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐได้ อ้างแค่ว่าได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามกฎหมาย ใช่หรือไม่

ส่วนที่กรมบัญชีกลางตอบหนังสือขององค์การเภสัชกรรม ที่ว่าการจัดซื้อชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการรับรองเฉพาะขั้นตอนการคัดเลือกเท่านั้นที่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้รับรองว่าการทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลซึ่งมิได้เป็นผู้ยื่นซองเสนอราคา “ตามข้อบังคับฯ ข้อ 11(1) “ และไม่ได้ชนะการคัดเลือกนั้นจะชอบด้วยกฎหมายด้วย ใช่หรือไม่?! ถ้าทำได้ก็ขอให้ทั้งองค์การเภสัชกรรม และกรมบัญชีกลางออกมาแถลงให้ตรงประเด็นว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับยกเว้น ไม่ต้องซื้อจากผู้ผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีไว้” ตามข้อ11(1) ใช่หรือไม่

การจัดซื้อ ATK ครั้งนี้จึงยังคงไม่ชอบด้วยข้อบังคับว่าการพัสดุเพื่อการผลิตและการจำหน่าย พ.ศ.2561 ขององค์การเภสัชกรรม ที่ประกาศใช้โดยอิงกับพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ.2560
ซึ่งเป็นกฎหมายหลักอย่างไม่ อาจบิดพลิ้วแบบศรีธนญชัยได้ ใช่หรือไม่?