“อสมท” เปิดโรดแมปปั้นรายได้ เสริมทัพบันเทิง-ดันเรตติ้งขึ้นท็อปเทน

อสมท กางแผนพลิกฟื้นรายได้หลังทำกำไรต่อเนื่อง 2 ไตรมาส รอบ 5 ปี เข้มบริหารต้นทุน-เพิ่มเวลาเช่าโฆษณา-ขายของหน้าจอเพิ่มรายได้ พร้อมงัดคอนเทนต์บันเทิงเสริมแกร่งหวังเป็นแม่เหล็กขยายฐานผู้ชมเพิ่ม ต่อยอดลงแพลตฟอร์ม OTT ตั้งเป้า 2 ปีนั่งแท่นท็อป 10 ทีวีดิจิทัลไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประมูลทีวีดิจิทัลผลักให้วงการโทรทัศน์มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นบนเม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม ทำให้ต่างต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ประกอบกับการดิสรัปชั่นของสื่อออนไลน์ยิ่งหนุนการแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่ช่องทางต่าง ๆ ต้องปรับตัวรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ อสมท รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในธุรกิจฟรีทีวีมานานที่ต้องปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน ตลอดจนการหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อสมท ทำรายได้ 751 ล้านบาท พลิกกลับมาทำกำไร 79 ล้านบาท ขณะที่เฉพาะไตรมาส 2 ทำกำไรได้สูงถึง 43 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ขาดทุนสะสม 5 ปีเต็ม

เน้นให้เช่าโฆษณาต่อยอดรายได้

นายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานผลิตภัณฑ์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ 9 MCOT HD ช่อง 30 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันวงการทีวีดิจิทัลค่อนข้างสูง ตั้งแต่การประมูลทีวีดิจิทัลทำให้เกิดคู่แข่งเข้ามาในตลาดได้มาก ผนวกกับในช่วงปี 2563 ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้ที่สำคัญของทีวีชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้หลาย ๆ ช่องต้องหันมาเมนเทนตนเอง

สำหรับ อสมท ก็เช่นเดียวกันต้องพยายามพยุงและประคับประคองรายได้ โดยหันมาเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่องค์กรตลอดจนการผลิตรายการ โดยจะเน้นการผลิตรายการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรืออีกด้านหนึ่งก็ต้องมองหาพันธมิตรที่จะนำคอนเทนต์มาลงช่อง MCOT และเพิ่มรายได้จากช่องทางต่าง ๆ โดยการให้น้ำหนักกับการให้เช่าเวลาโฆษณามากขึ้น ซึ่งเริ่มมีผู้จัดรายการหลายรายให้ความสนใจ

หากนับรวมแล้วการเปิดพื้นที่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2564) มากกว่าในปี 2563 ราว 1 เท่าตัว ควบคู่กับการหันมาเน้นการขายสินค้าทางหน้าจอทีวี เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น เป็นต้น ซึ่งมีทั้งในส่วนสินค้าของ อสมท เอง และส่วนของพันธมิตรรายอื่น ๆ

“การระบาดของโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมา อสมท ไม่สามารถถ่ายทำบางรายการได้ และมีความยากลำบากขึ้น รวมทั้งมีการประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ work from home 100% ซึ่งส่งผลทำให้งานบางส่วนไม่สามารถดำเนินงานได้ เช่น รายการบางประเภทที่ใช้สเกลในการถ่ายทำและมีจำนวนคนมาก เป็นต้น ส่วนรายการถ่ายทอดสดที่ไม่สามารถทำได้ก็จะใช้วิธีการปรับผังนำรายการอื่น ๆ มาออกอากาศแทน เพื่อปรับแก้ตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปลายปี 2564 ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องจะเริ่มเตรียมตัวการแข่งขันมากขึ้น เพื่อรอตลาดเปิดในช่วงต้นปี 2565 ที่โควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น”
เพิ่มน้ำหนักรายการบันเทิง

นายผาติยุทธกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สื่อทีวี อสมท ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 33% ของโครงสร้างรายได้ทั้งหมดของบริษัท และหลัก ๆ ยังคงวางโพซิชั่นตนเองให้เป็น “สังคมอุดมปัญญา” ชูความเป็นแพลตฟอร์มสร้างการเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือและมีประโยชน์กับประชาชน สะท้อนได้จากความแข็งแรงของคอนเทนต์ของ อสมท ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว อาทิ สำนักข่าวไทย ข่าวภาคค่ำ เจาะลึกทั่วไทย ที่เสนอทั้งในมุมการเล่าข่าว ตลอดจนวิเคราะห์เจาะลึก แม้กระทั่งรายการข่าวในรูปแบบความบันเทิง เช่น ตกมันส์บันเทิง ไนน์เอ็นเตอร์เทน รายการข่าวบันเทิงอันดับ 1 ในไทย โดยมีทาร์เก็ตหลักเป็นกลุ่มอายุ 35-40 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา นอกจาก อสมท จะเน้นการพัฒนารายการข่าวผ่านการปรับรูปแบบการนำเสนอ เน้นประเด็นเจาะลึกและน่าเชื่อถือแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการเสริมทัพความบันเทิงมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อาทิ ภาพยนตร์จีน ภาพยนตร์ไทย รายการข่าวบันเทิง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมาด้วยการปรับสลอตเวลารายการบันเทิงมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสนุกในการรับชมทีวีของฐานผู้ชมหลัก แต่ยังมีจุดยืนคัดความบันเทิงความรู้อยู่ ซึ่งต่อจากนี้ไปจนถึงปี 2565 อสมท จะเน้นความเป็น smart entertainment ให้เป็นช่องทีวีสีขาวที่ได้ทั้งความบันเทิงและสาระความรู้ไปพร้อม ๆ กัน

เหตุที่ อสมท หันมาเน้นการเพิ่มรายการบันเทิงมากดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคไทยมีพฤติกรรมเสพคอนเทนต์บันเทิงเป็นหลัก ทั้งในแง่ข่าวและละคร การปรับผังรายการเพิ่มโฟกัสบันเทิงจะช่วยสร้างความนิยมและการรับรู้ช่อง MCOT มากขึ้น ที่ผ่านมาได้เริ่มปรับในวันเสาร์-อาทิตย์เป็นหลักก่อน พบว่าฐานผู้ชมขยายตัวค่อนข้างชัดเจน

ตั้งเป้าดันเรตติ้งติดท็อปเทน

นายผาติยุทธกล่าวว่า ทั้งนี้ รูปแบบคอนเทนต์บันเทิงเบื้องต้นจะทำในรูปแบบการเปิดกว้างหาพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงต่าง ๆ รวมทั้งกีฬา เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนในการทำรายการบันเทิงมีต้นทุนค่อนข้างสูง จึงต้องหันมาทำคอนเทนต์ภายใต้โมเดลธุรกิจแลกเปลี่ยนคอนเทนต์ระหว่างกันหรือแบ่งรูปแบบการหารายได้กัน นอกจากนี้ ในอนาคตยังเล็งขยายการเติบโตด้วยการร่วมทุนพาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ ทำคอนเทนต์บันเทิงในหลากหลาย

โดยมีอยู่ในแผนหลายโมเดล อาทิ เกมโชว์ ละคร นอกจากนี้ ด้วยกระแสรักสุขภาพที่มาแรงอาจเสริมรายการสุขภาพเข้ามาเพื่อตอบโจทย์ด้านนี้มากขึ้น พร้อมทั้งมุ่งเน้นการผลิต ever green contents เพื่อต่อยอดไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายหลักระยะยาวของ อสมท คือ การต่อยอดคอนเทนต์ที่มีอยู่ไปในช่องทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์ม OTT โดยที่ผ่านมาคอนเทนต์ อสมท เคยไปทั้งใน AISPLAY และ LINETV ส่วนอีกเป้าหนึ่งคือ การไต่อันดับเรตติ้งดัน MCOT ช่อง 30 ให้อยู่ในท็อป 10 ให้ได้ คาดหวังว่าภายในระยะสั้น 2 ปีข้างหน้า (2565-2566) อสมท จะมีอันดับอยู่ที่ 7-8 ให้ได้” นายผาติยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายได้ อสมท ย้อนหลัง 5 ปีมีดังนี้ ปี 2560 รายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุน 2,543 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 378 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 2,968 ล้านบาท ขาดทุน 458 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 1,511 ล้านบาท ขาดทุน 2,020 ล้านบาท และปี 2564 (ครึ่งปีแรก) รายได้ 751 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ อสมท ได้ทยอยปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงิน และเพิ่มความสามารถด้านการสร้างผลกำไร ตลอดจนสร้างเสถียรภาพทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพองค์กรด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP) ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรปี 2564 ลงได้ประมาณกว่า 200 ล้านบาท

พร้อมกันนี้พยายามจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดินจำนวน 3 แปลง ที่กำลังดำเนินการพิจารณาออกข้อกำหนดเพื่อสรรหาคัดเลือกผู้ลงทุนและเสนอผลประโยชน์ตอบแทน สำหรับการพัฒนาโครงการบนที่ดินย่านรัชดาฯ-พระราม 9 คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนักลงทุนเข้ามาพัฒนาที่ดินในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564