สธ. เปิดแผนฉีดไฟเซอร์-คุมเข้มเปิด ร.ร. ตั้งศูนย์กักตัวภายใน

ไฟเซอร์ วัคซีน
MENAHEM KAHANA / AFP

สธ. กางโรดแมปเข้มมาตรการเปิดโรงเรียน ตั้งศูนย์กักตัวใน ร.ร.-กรองประวัติความเสี่ยงรอบด้าน-ตรวจ ATK-ฉีดวัคซีนครูกว่า 85% พร้อมเร่งฉีดไฟเซอร์กลุ่มนักเรียนมัธยมหรือเทียบเท่าอายุ 12-18 ปี ต.ค.เตรียมปักเข็ม 1 กว่า 4 ล้านโดส

วันที่ 14 กันยายน 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีการเตรียมพร้อมเปิดโรงเรียนโดยระบุว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในกลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปี (ข้อมูลระหว่าง 1 เม.ย.-11 ก.ย.) มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 คน โดย 90% เป็นคนไทย อีก 10% เป็นคนต่างชาติ พบมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตสะสม 15 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว

สาเหตุที่ติดเชื้อหลัก ๆ มาจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน อีกส่วนคือมาจากการคัดกรองเชิงรุก และหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแยกเป็นรายเดือนพบว่า เดือน เม.ย. มีผู้ติดเชื้อ 2,426 คน เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 6,432 คน เดือน มิ.ย. 6,023 คน เดือน ก.ค. 31,377 คน และเดือน ส.ค. มีจำนวนสูงถึง 69,628 คน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ

“สะท้อนได้ว่าการติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นนั้น แม้จะไม่มีการเปิดให้เรียนเต็มรูปแบบ หรือการเรียนแบบไฮบริด ก็ยังพบการติดเชื้อ หมายความว่าส่วนหนึ่งการติดเชื้อมาจากในชุมชมหรือครอบครัวมากกว่า หรือการเดินทางไปสัมผัสกลุ่มผู้ติดเชื้อยืนยัน”

ส่วนสถานการณ์ความก้าวหน้าด้านการได้รับวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา (ข้อมูล ณ 5 ก.ย.) รวมเข็ม 1 และ 2 ประมาณ 891,423 ราย หรือคิดเป็น 88.3% ส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมี 118,889 คน คิดเป็น 11.7%

ขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวนั้น (ข้อมูล 11 ก.ย.) แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 74,932 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 คน ถ้านับรวมปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีก

สำหรับการดำเนินมาตรการแซนด์บอกซ์เซฟตี้โซนในโรงเรียน ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมอนามัย และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมาได้มีการทดลองนำร่องเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติในพื้นที่โรงเรียนประจำ

โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมในด้านการจัดการ และต้องมีความสมัครใจ ทั้งในส่วนผู้ปกครองและชุมชน พร้อมกับได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่ ร.ร.นั้นกำหนด โดยต้องมีทั้งโซนคัดกรอง โซนกักตัว และโซนปลอดภัย สำหรับครูและนักเรียนที่ผ่านการรับรองด้านความปลอดภัยสามารถดำเนินกิจกรรมได้เกือบใกล้เคียงปกติ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ ศธ. ร่วมกับ สธ. พบว่าผลดำเนินการมีแนวโน้มดี แม้จะมีการติดเชื้อบ้าง แต่มักเกิดจากบุคลากรโรงเรียนออกไปข้างนอกพื้นที่และนำความเสี่ยงกลับมา ไม่ได้เกิดจากความหละหลวมของมาตรการ

อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากมีการเปิดโรงเรียนในระบบไป-กลับ ไม่ใช่โรงเรียนประจำ จะแบ่งมาตรการความเข้มข้นตามระดับการติดเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ เป็นหลัก โดยคง 7 มาตรการหลักสำหรับโรงเรียน ได้แก่

1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมการเปิดเรียนกับ Thai stop covid-19 (TSC+) และรายงานการประเมินผลผ่าน MOECOVID ของ ศธ.

2.ทำกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มเล็ก ๆ (Small Buble) โดยพยายามไม่ให้แต่ละกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดกัน

3.จัดระบบอาหารเน้นหลักสุขาภิบาล

4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เช่น ระบบระบายอากาศ การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ

5.จัดศูนย์กักตัวในโรงเรียนหรือ School Isolation แผนเผชิญเหตุ ในกรณีเกิดการติดเชื้อในโรงเรียน

6.บูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนในการจัดระบบการไป-กลับระหว่างโรงเรียนและสถานศึกษา

7.จัดให้มี School Pass สำหรับครู นักเรียน และบุคลากร โดยมีการประเมินความเสี่ยงตนเอง ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการติดเชื้อโควิด ประวัติการได้รับวัคซีน ฯลฯ

– สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีเขียว จะเข้มมาตรการการเฝ้าระวังการติดเชื้อและ 7 มาตรการของโรงเรียนในข้างต้น และครูบุคลากรกว่า 85% ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม พร้อมทั้งให้มีการประเมินความเสี่ยง 1 วัน/สัปดาห์

– สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีเหลือง มาตรการจะเป็นเหมือนพื้นที่สีเขียว แต่เพิ่มการตรวจ ATK 1 ครั้ง/2 สัปดาห์

– สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีส้ม จะคงมาตรการเท่ากับพื้นที่สีเหลือง แต่จะเพิ่มการประเมินความเสี่ยงเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์

– สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีแดง จะคงมาตรการเบื้องต้นคล้ายพื้นที่สีส้ม แต่จะเพิ่มการประเมินกิจการที่อยู่โดยรอบโรงเรียนระยะ 10 เมตร เช่น ร้านขายอาหาร ขนม ต้องผ่านการประเมิน TSC+ โควิดฟรีเซ็ตติ้ง และต้องมี School Pass ประวัติความเสี่ยงในทุก ๆ ด้าน ทั้งครู บุคลากร และนักเรียน ควบคู่กับการจัดห้องเรียนได้ประมาณกลุ่มละ 25 คน ตรวจ ATK 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ และนักเรียนบางส่วนอาจต้องมีการเข้ารับวัคซีนตามมาตรการของ สธ. พร้อมประเมินความเสี่ยง 3 วัน/สัปดาห์

– สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีแดง คงมาตรการเหมือนพื้นที่สีแดง แต่ต้องมีการตรวจ ATK ถี่กว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ และมีการประเมินความเสี่ยงทุกวัน

“แม้มาตรการจะเข้มข้น แต่ก็มีโอกาสจะมีการติดเชื้อได้ ดังนั้นเราจึงทำแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การทำศูนย์กักตัวที่โรงเรียน School Isolation ไว้เพื่อรองรับด้วย”

เมื่อถามถึงการสนับสนุน ATK ในส่วนของภาครัฐที่มีต่อโรงเรียน ครู นักเรียน และบุคลากร นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า การสนับสนนุนมี 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ 1.จาก สปสช. ที่ประมูล ATK มา 8.5 ล้านชุด ซึ่งจะกระจายสู่สถานพยาบาลแต่ละจังหวัด ตรงนี้ ร.ร. ต้องร่วมกับสถานพยาบาล เตรียมความพร้อมสามารถไปขอรับได้ และ 2.การจัดหา ATK ของหน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัด สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาซื้อได้ โดยผ่านการหารือร่วมกัน

ขณะที่ นพ.เศวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกำหนดการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่กลุ่มนักเรียน หลัก ๆ จะเป็นเด็กที่อยู่ในชั้นมัธยมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน อาชีวศึกษา หรือเทียบเท่าอื่น ๆ อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนทหาร โรงเรียนคนพิการ ที่มีเด็กอายุ 12-18 ปีศึกษาอยู่

“กลุ่มนักเรียนจะได้ไฟเซอร์ทุกคน ซึ่งจะเข้ามาราวช่วงปลายปีนี้ โดยโรงเรียนและสถานศึกษาแต่ละพื้นที่จะรวบรวมจำนวนนักเรียนที่มี เพื่อแจ้งให้สาธารณสุขจังหวัด เพื่อจัดสรรวัคซีนลงไป โดยการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ต.ค. สัปดาห์แรก 1 ล้านโดส สัปดาห์ที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส สัปดาห์ที่ 3 จำนวน 2 ล้านโดส ส่วนนี้จะเป็นเข็มที่ 1 สำหรับนักเรียน สำหรับที่ 4 จำนวน 1 ล้านโดส ถัดไปจะเป็นในส่วนของ พ.ย. ซึ่งจะเป็นการฉีดที่ห่างกัน 3-4 สัปดาห์”

ส่วนประเด็นข้อกังวลผลข้างเคียงเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ต้องเรียนว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ เปรียบเทียบกับการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดอาการเดียวกันกับหัวใจอยู่ในหลัก 50 ต่อ 100,000 ถือว่าสูงกว่าที่เกิดจากวัคซีนถึง 6 เท่า