สธ.ชี้ผู้ติดเชื้อรักษาหาย อาจเกิดภาวะลองโควิด แนะพบแพทย์วินิจฉัยอาการ

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

สธ. เผย 3 เดือนแรกหลังหายติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจพบภาวะลองโควิด 30-50% ปวดหัว-มีไข้-หายใจไม่เต็มอิ่ม-เหนื่อยง่าย-ปวดกล้ามเนื้อ-จมูกลิ้นรับกลิ่นรสลดลง ชี้สาเหตุหลักเครียดสะสม แนะพบหมอหาสาเหตุอย่างละเอียด หวั่นผลข้างเคียงยา-โรคแฝง-บางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์

วันที่ 16 กันยายน 2564 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยอดผู้หายป่วยโควิด มีแนวโน้มเป็นบวก และมีจำนวนมากขึ้น สะท้อนถึงคุณภาพระบบการดูแลรักษา โดยขณะนี้มียอดสะสมอยู่ที่ 1,405,374 ราย

อย่างไรก็ดี แม้จะหายป่วยและไม่พบเชื้อโควิดในร่างกายแล้ว อาจจะมีอาการคล้ายโควิดหลงเหลืออยู่ได้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกว่าลองโควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว

โดยอาการดังกล่าวพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยรักษาหายได้ทั่วโลก ส่วนมากจะมีภาวะลองโควิดสูงถึง 30-50% หลังจากหายป่วย 1-3 เดือนแรก ถือเป็นอาการที่พบได้ไม่ต้องกังวลใจหรือตกใจแต่อย่างใด

ขณะที่นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเสริมว่า ภาวะลองโควิด แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์

ส่วนบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย โดยผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย

เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว บางรายอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน

ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด แม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท