“อนุทิน” คิ๊กออฟแจก ATK พร้อมแย้มแผนบูสวัคซีนเข็ม 3 ให้ อสม.

นายอนุทินกล่าวว่า จากนี้ไปทางกรมควบคุมโรคจะติดตามว่า หากภูมิคุ้มกันตกลงเมื่อไหร่ ก็ต้องมีการเติมเรื่อย ๆ 

วันที่ 16 กันยายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเหตุ รองอธิบดี สบส. ประชุมทางไกลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ มอบนโยบาย “อสม. พร้อมบอกต่อเรื่อง ATK สำหรับประชาชน”


กทม. แจกชุดตรวจ ATK คนละ 2 ชุด 16 ก.ย. ใครได้บ้าง รับที่ไหน เช็ก !

นายอนุทินระบุว่า ชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด จัดหามาแล้วและจะกระจายให้กับประชาชน โดยมี อสม.คอยให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางรายยังไม่สามารถตรวจได้เอง ต้องมีคนแนะนำ ทั้งนี้เมื่อมีการตรวจด้วย ATK แล้วก็จะสามารถคัดกรองได้มากขึ้น เมื่อรวมกับระบบการรักษาที่เรียกว่า การแยกกักที่บ้าน Home Isolation หรือการแยกรักษาตัวในชุมชนที่เรียกว่า Community Isolation โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในอัตรามาตรฐาน โดย 80% ของผู้ติดเชื้อมีสุขภาพดี ยกเว้นกลุ่ม 608 ที่อายุมากหรือมีโรคประจำตัว อาจมีการเปลี่ยนเป็นอาการหนัก แต่เมื่อขึ้นทะเบียนในระบบก็สามารถนำส่ง รพ.ได้ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยแก้ปัญหาคอขวดความหนาแน่นใน รพ.ได้

พร้อมย้ำว่า การกำจัดชุด ATK ที่ใช้แล้วยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากทิ้งไม่ถูกสุขลักษณะย่อมทำให้เชื้อโรคกระจายได้ ไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 แต่อาจมีเชื้ออื่น ๆ ทั้งหวัด วัณโรค เชื้อทางเดินหายใจ พี่น้อง อสม.ต้องระวัง ต้องทิ้งแยก เพราะถือเป็นขยะติดเชื้อ

นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ยังได้สาธิต การตรวจเชื้อโควิดด้วยชุด ATK ยี่ห้อ Lepu ที่ทาง สปสช.จัดหา พร้อมทั้งแนะนำการใช้ และวิธีการเก็บทิ้งที่ต้องบอกประชาชนว่า อย่าทิ้งลงขยะทั่วไปทันที แต่ต้องจัดเก็บในถุงซิปล็อกที่มากับชุดตรวจ หาถุงมัดอีกรอบและแยกทิ้งให้ชัดเจนว่า เป็นขยะติดเชื้อ โดยก่อนทิ้ง ให้ อสม.ถ่ายรูปผลการตรวจก่อนทุกครั้ง

ขณะเดียวกันนายอนุทินยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม. ทั้งการฉีดให้กับ อสม.ทุกราย และการบูสเข็ม 3 รวมถึงแผนบูสเพิ่มในอนาคตว่า ขอให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ตัดบัญชีส่งวัคซีนให้ อสม. อีก 3 แสนคนในช่วงกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเพราะอยู่ระหว่างรอคิว และบางส่วนเป็นผู้สูงอายุ โดยจะได้รับซิโนแวคเป็นเข็มแรก จากนั้นได้แอสตร้าฯ 

ส่วนผู้ที่ได้รับซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม สามารถมาบูสเตอร์เข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ในเดือนหน้า ส่วนหากใครรับแอสตร้าฯ เข็มแรกแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นก็ต้องรอแอสตร้าฯ เข็ม 2 ส่วนกลุ่มที่รับซิโนแวคเข็มแรกจะตามด้วยแอสตร้าฯ 

และจากนี้ไปทางกรมควบคุมโรคจะติดตามว่า หากภูมิคุ้มกันตกลงเมื่อไหร่ ก็ต้องมีการเติมเรื่อย ความยุ่งยากจะไม่มี ทุกวันนี้ยุ่งยาก เพราะเมื่อฉีดเข็มแรกไปแล้ว ต้องรอเข็ม 2 มีการจัดเตรียมความเสี่ยง เผื่อเข็ม 2 มาไม่ทัน ทำให้เกิดความวุ่นวายจัดคิว ต้องขออภัยด้วย เพราะเราต้องการมาตรฐานสูงสุด

“สำหรับ 3 แสนคนอย่าน้อยใจว่าทำไมไม่อยู่ในกลุ่มแรก อาจเป็นเรื่องโชคดี เพราะช่วงหลังพบสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯเป็นเข็มสอง ใช้เวลาระหว่างเข็มเพียง 3 สัปดาห์ แต่ภูมิคุ้มกันกลับสูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม หรือมีความทัดเทียมกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม” นายอนุทินกล่าว

ด้านนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ อสม. ว่า ที่ผ่านมาได้แนะนำประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ลงทะเบียนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นจำนวน 4,800,059 คน โดยได้มีการติดตามกลุ่มเป้าหมาย 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี โรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนโควิด และแยกกักรักษาตัวผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน มีจำนวน 3,538,733 คน ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 1,165,750 คน หรือคิดเป็น 33% 

นอกจากนี้ อสม.ยังเฝ้าระวังแรงงานกลับบ้าน โดยเฝ้าระวังคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 306,321 คน ติดตามกลุ่มเสี่ยงครบ 14 วัน 259,158 คน มีอาการสำคัญและส่งต่อเจ้าหน้าที่ 16,207 คน

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่สุ่มเสี่ยงนี้ทำให้ อสม. ติดเชื้อโควิด 56 คน เสียชีวิต 6 คน อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร หรือ อสส.ติดเชื้อ 37 คน เสียชีวิต 3 คน ขณะนี้มีการเยียวยา อสม.แล้ว 46 คน ส่วน อสม.และ อสส.ที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ