สธ.ไขข้อสงสัยผู้ปกครองเลือกยี่ห้อวัคซีนป้องกันโควิดให้บุตรหลานได้หรือไม่

ฉีดวัคซีน-11

สธ.แจงไทม์ไลน์ไฟเซอร์เด็ก 12-17 ปี เริ่ม 4 ต.ค.นี้ เผยผู้ปกครองไม่ฉีดวัคซีน mRNA ให้เด็กได้ ชี้หากเลือกฉีดเชื้อตายซิโนแวค-ซิโนฟาร์มกำลังยื่นขยายอายุฉีด อย. อยู่ อาจต้องรออีกสักระยะ

วันที่ 17 กันยายน 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อในวันนี้ (17 ก.ย.) เป็นอีก 1 วันที่มีผู้ติดเชื้อเกินหลักหมื่นราย หรืออยู่ที่ 14,555 คน มีผู้เสียชีวิต 171 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า 200 รายมาหลายสัปดาห์

ระยะต่อจากนี้คงต้องเป็นเรื่องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และดูแลผู้ป่วยเดิมให้หายป่วย ส่วนอัตราการเสียชีวิตในไทยแม้จะมีเพียง 1.06% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ราว 2% แต่เราอยากให้ต่ำกว่านี้อีก จึงเป็นที่มาที่ สธ. ตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น ทั้งส่วนของระบบบริการสุขและการตรวจเชิงรุก หลายรายใช้ ATK

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

ขณะที่สถานการณ์คนป่วยหนักใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยปอดอักเสบ มีจำนวนลดลงตามลำดับเหลือ 3,851 ราย จากเดิม 4,917 ราย รวมทั้งคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงต่อเนื่อง จาก 1,040 ราย เหลือ 787 ราย ทำให้เรามีจำนวนเตียงไอซียูดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น

“จากนี้ไปประเทศไทยจะมอนิเตอร์ผู้ป่วยรุนแรงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นหลัก เพราะจากสะท้อนถึงภาระงานของระบบบริการทางการแพทย์”

สำหรับการฉีดวัคซีนในวานนี้ (16 ก.ย.) มีรายงานฉีดวัคซีนมากถึง 864,589 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 350,813 ราย, เข็ม 2 จำนวน 512,811 ราย และเข็ม 3 จำนวน 965 ราย รวมยอดฉีดสะสมอยู่ที่ 43,342,103 โดส มากเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน ครอบคลุมประชากรเข็ม 1 ราว 42.4%

ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปีขึ้นไป เพื่อรองรับการเปิดเทอม 2/2564 โดยมีเป้าหมายฉีดครอบคลุม 4.5 ล้านคน ซึ่งแผนการให้วัคซีนเด็กมีเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ 10 ก.ย.ที่ ศบค. ได้มีมติเห็นชอบการฉีดในเด็ก และได้มีการหารือต่อเนื่อง 13 ก.ย. ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ทาง ศธ. ร่วม สธ. ได้แถลงความพร้อม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการตามแผน ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกหนังสือคู่มือการจัดการ เพื่อให้เกิดความสะดวก ทันต่อการเปิดภาคเรียน เป้าหมายจะเริ่มฉีดในวันที่ 4 ต.ค. เป็นต้นไป

ขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่มี ร.ร.อยู่ในสังกัด และใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ซึ่งจะรู้จักพื้นที่และ ร.ร. ดี รวมไปถึงจำนวนนักเรียน

ทั้งนี้ ทางสถานศึกษาหรือ ร.ร. เองก็ต้องประสานกับผู้ปกครองถึงแผนงานฉีดวัคซีนนักเรียน พร้อมประสานหน่วยพยาบาลกรณีฉีดวัคซีนที่ ร.ร. ส่วนกรมควบคุมโรคจะช่วยจัดเตรียมไฟเซอร์ และอุปกรณ์การฉีด รวมทั้งการติดตามจำนวนฉีด และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน โดยมีไทม์ไลน์อย่างละเอียด ดังนี้

1.วันที่ 13-19 ก.ย. 64 ศธ. หรือกระทรวงต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ๆ แจ้ง ร.ร. สำรวจนักเรียนที่ผู้ปกครองต้องการให้ฉีดไฟเซอร์

2.วันที่ 20-26 ก.ย. 64 ร.ร. ชี้แจงและส่งเอกสารคำแนะนำและแบบแสดงความประสงค์เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ พร้อมรวมส่งกลับภายใน 1 สัปดาห์

3.วันที่ 20 ก.ย.-3 ต.ค. 64 รร. แจ้งจำนวนนักเรียนที่สนใจฉีดไฟเซอร์ไปยังศึกษาธิการจังหวัด-คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. กำหนดจับคู่ รพ.กับ ร.ร.จุดบริการวัคซีน

4.วันที่ 27 ก.ย.- 3 ต.ค. 64 กรมควบคุมโรคแจ้งแผนการส่งและจำนวนวัคซีนรายสัปดาห์ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด-กทม.

5.วันที่ 4-24 ต.ค. 64 สถานพยาบาลตรวจสอบเอกสารผู้ปกครองแสดงความประสงค์ให้นักเรียนฉีดไฟเซอร์ พร้อมฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 1 สังเกตอาการ นัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ลงข้อมูลใน MOPH IC และเฝ้าระวังอาการข้างเคียง 30 วัน

6.วันที่ 25 ต.ค.-8 พ.ย. 64 นักเรียนเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน สถานพยาบาลลงข้อมูลใน MOPH IC และเฝ้าระวังอาการข้างเคียง 30 วัน

7.วันที่ 9-15 พ.ย. 64 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด-กทม. ส่งข้อมูลสรุปผลการฉีดวัคซีนนักเรียนให้กรมควบคุมโรค

ส่วนกรณีความกังวลอาการข้างเคียงหลังฉัดไฟเซอร์ คือ เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการฉีดในทั่วโลกเกิดประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดส ส่วนมากพบในเด็กชายอายุ 12-17 ปี ข้อมูลในไทยขณะนี้พบเพียง 1 ราย หรือ 0.1 ต่อ 1 แสนโดส ซึ่งผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด

“แม้จะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยลดการติดเชื้อลงได้ และลดการแพร่เชื้อจากเด็กไปสู่บุคคลในครอบครัวได้ ผู้ปกครองที่มีโรคเรื้อรังก็ควรเข้าฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน”

เมื่อถามถึงกรณีผู้ปกครองขอเลือกรับชนิดวัคซีนให้แก่เด็กเองได้หรือไม่ เช่น วัคซีนเชื้อตายแทน mRNA นพ.โสภณ ระบุว่า ขณะนี้วัคซีนที่ภาครัฐจัดหาในเวลานี้และมีเป็นจำนวนมากที่จะให้ครอบคลุมทุก ร.ร. จะมีไฟเซอร์ จึงเป็นวัคซีนตัวแรกที่ให้ได้ในจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี วัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม มีการฉีดในเด็กที่ประเทศจีนแล้วหลายล้านคน แต่วัคซีน 2 ชนิดนี้ยังอยู่ระหว่างการขอปรับทะเบียนกับ อย. เพื่อให้ฉีดในเด็กได้ จากเดิมที่ให้ฉีดในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ดังนั้น ผู้ปกครองที่มีความประสงค์อยากให้นักเรียนฉีดวัคซีนเชื้อได้ก็ต้องติดตามต่อว่าจะมีวัคซีนไปให้บริการใน ร.ร. มากน้อยแค่ไหนในส่วนเชื้อตาย แต่ที่ สธ.จัดให้ในเวลานี้มีเพียงไฟเซอร์ อย่างที่ทราบอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถึงมีการชี้แจงให้ผู้ปกครองประเมินถึงประโยชน์และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก่อนตัดสินใจ

สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิด mRNA ก็สามารถที่จะรอวัคซีนเชื้อตายได้ เพียงแต่เวลาที่จะได้วัคซีนดังกล่าวเพื่อฉีดนักเรียนจำนวนมากอาจต้องรออีกสักระยะหนึ่ง