ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จ่อนำเข้ายากลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี

ภาพโดย swiftsciencewriting จาก Pixabay

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จ่อนำเข้ายากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี จับมือ โรงพยาบาลอีก 2-3 แห่ง วิจัยแอนติไวรัสโควิด

วันที่ 21 กันยายน 2564 มติชน รายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมวิชาชีพ และสถาบันทางการแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าวออนไลน์ ในหัวข้อ “การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต และแผนการใช้ยาแอนติบอดีค็อกเทล เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย

โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า มีการหารือกันในการรักษาโควิด-19 ด้วยยาชนิดหนึ่ง คือ โมโนโคลนอลแอนติบอดี (MonoClonal Antibody) ซึ่งเรามีส่วนจัดหา นำเข้า และกระจายโมโนโคลนอลแอนติบอดี เรียกว่า แอนติบอดี คอกเทล ซึ่งเป็นตัวแรกที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองใช้ในภาวะฉุกเฉิน

โดยจะให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการน้อยถึงปานกลาง ที่มีความเสี่ยงชีวิต เพราะจะช่วยลดการเข้าโรงพยาบาลและไอซียูได้ เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิดและโรคอื่น ๆ ได้

ราชวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการขณะนี้คือ เป็นคนนำเข้าและกระจายยาแอนติบอดี คอกเทล ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ และเรายังร่วมกับโรงพยาบาลอีก 2-3 แห่ง วิจัยยาแอนติไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยมองว่าจะถึงเป้าเร็วกว่าคนอื่น ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบยานั้นด้วย

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่ประเทศไทย ในพระบรมราขูปถัมภ์ กล่าวว่า ในการระบาดรอบ 3 เดือนมิถุนายน 2564 ที่ยอดพุ่งสูง สายพันธุ์เดลต้ามีการติดเชื้อมาก ปอดอักเสบรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น หากมีจำนวนผู้ป่วยมาก ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมากเป็นเงาตามตัว ทำให้งานตึงมือ ล้นศักยภาพการแพทย์ ต้องหาวิธีต่าง ๆ ไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้ระบบสุขภาพยืนอยู่ได้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า หากเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโรคแทรกจะใช้เวลาเฉลี่ย 7-10 วัน ส่วนเป็นผู้สูงอายุมีโรคแทรก จะใช้เวลานานขึ้นและผลการรักษาไม่ค่อยดี อาจใช้เวลา 10-30 วัน ดังนั้น การลดการเจ็บป่วยในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นวิธีดีที่สุด

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเชื้อโควิด ลักษณะคล้ายไข้หวัด หากเดินไปด้วยมาตรการสาธารณสุข มาตรการวัคซีน ตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอันต่อมาคือ ยารักษา

“ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัวที่ใช้ อยู่ยังมีคำถามมากมาย รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม ดังนั้น ตอนนี้เลยมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว บางตัวทำท่าว่าจะได้ผล อีกตัวคือ โมโนโครนอลฯ น่าสนใจ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ ดังนั้น การต่อสู้กับโควิด-19 ต้องใช้อาวุธหลายชนิด ตอนนี้ต้องใช้การป้องกันตัวเอง วัคซีน และยาเท่าที่มี ซึ่งยาโมโนโครนอลฯ ผมมองว่าจะเป็นหนึ่งตัวที่มาช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควร ต่อมาจะมียาต้านไวรัสบางตัวที่ต้องติดตามอีก 2-3 ตัว เนื่องจากมีวิจัยอยู่มาก” ผศ.นพ.กำธร กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ข้อมูลในปัจจุบันต่างประเทศพัฒนาการรักษาอยู่หลายตัว ที่เป็นยาป้องกันและช่วยลดความรุนแรง ส่วนยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในการศึกษา กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่นำโปรตีนที่สร้างขึ้นจับกับส่วนของไวรัส ไม่ให้เข้าเซลล์มนุษย์ ดังนั้น ไวรัสจะไม่สามารถทำร้ายเซลล์ได้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัวและการใช้ต้องใช้ในระยะของการติดเชื้อ ยังไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว หรือเลย 10 วันแล้ว เนื่องจากเป็นระยะของการกระตุ้นภูมิของร่างกาย

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั่วไปจึงเลือกใช้ในผู้ปวยโควิด-19 ที่อาการและมีความเสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีความอ้วน คิดว่าในอนาคตจะขยายข้อบ่งชี้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยระบบประสาท หญิงตั้งครรภ์ หรือในเด็ก ทั้งนี้ ก็จะมียาตัวอื่น ๆ ทั้งยากินหรือยาฉีด อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยทั้งรักษาและป้องกัน เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยากลุ่มนี้ก็จะคล้าย ๆ กันด้วย


ขณะที่แหล่งข่าว กล่าวว่า เบื้องต้นมีการนำเข้ายากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี 4,000 โดส กระจายให้กับ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่ายานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วนโรงพยาบาลรัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของโรงพยาบาล หรือเงินบริจาคต่าง ๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้นราคา 50,000 บาทต่อโดส 1 คน ใช้ 1 โดส