แอปเปิลงัดข้อ EU ค้านกฎหมายบังคับใช้สายชาร์จ USB-C 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

กม.ฉบับนี้จะทำให้มือถือ แท็บเล็ต กล้องดิจิทัล หูฟัง ลำโพงพกพา เครื่องเกม ฯลฯ ที่จะขายในสหภาพยุโรปต้องใช้พอร์ทสายชาร์จแบบ USB-C เหมือนกันหมด ซึ่งกระทบกับแอปเปิลที่ใช้พอร์ทสายชาร์จแบบไลท์นิ่ง

 วันที่ 24 กันยายน 2564 การประกาศชงร่างกม.ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปที่จะบังคับให้ผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, แท็ปเล็ต, หูฟัง, กล้องดิจิทัล, เครื่องเกม, ลำโพงพกพา ฯลฯ ที่จะวางขายในยุโรปต้องใช้พอร์ทสายชาร์จแบบ USB-C เหมือนกันทั้งหมดนั้น กำลังเป็นประเด็นร้อนในวงการไอทีทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง แอปเปิล ออกตัวคัดค้านร่างกฏหมายฉบับนี้เต็มที่

ลดค่าใช้จ่าย-แก้ปัญหาขยะ

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ระบุถึงแนวคิดเบื้องหลังกม.ฉบับนี้ว่า ต้องการทำให้พอร์ท USB-C เป็นมาตรฐานกลางสำหรับอุปกรณ์พกพาทุกชนิด เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคที่สามารถใช้สายชาร์จและหัวชาร์จที่มีอยู่กับอุปกรณ์พกพาทุกชนิดได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนอุปกรณ์ ขณะเดียวกันผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องแถมและบวกต้นทุนหัวชาร์จไปกับอุปกรณ์ที่ตนจำหน่ายอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติดที่เกิดจากหัวชาร์จเก่าอีกด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมาทุกปีชาวยุโรปทิ้งหัวชาร์จจำนวนกว่า 1.2 หมื่นตัน ซึ่งบางส่วนไม่เคยใช้งานเลย และขณะเดียวกันต้องเสียเงินกว่า 2.4 พันล้านยูโรในการซื้อหัวชาร์จแบบเฉพาะซึ่งไม่มีแถมมากับอุปกรณ์ จึงเป็นที่มาของแนวคิดสายชาร์จและหัวชาร์จที่ใช้ร่วมกันได้แบบครอบจักรวาล

โดยหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรองของรัฐสภายุโรป บรรดาผู้ผลิตสินค้าจะมีเวลาปรับตัวอีก 24 เดือนก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปิดฉากยุคสายใครสายมัน

ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหภาพยุโรปเข้ามากำหนดมาตรฐานในวงการมือถือ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2552 สหภาพยุโรปได้ลงนามในข้อตกลงแบบสมัครใจกับผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ 10 ราย อาทิ แอปเปิล, โนเกีย, ซัมซุง, โมโตโรล่า, โซนี่อีริกสัน, หัวเว่ย และอื่นๆ เพื่อให้มือถือจากทุกยี่ห้อเปลี่ยนจากสายชาร์จเฉพาะของตนเองซึ่งขณะนั้นมีมากถึง 30 รูปแบบ มาใช้แบบ Micro USB เหมือนกันทั้งหมด 

แม้สุดท้ายแอปเปิลจะไม่ปฎิบัติตาม แต่ก็ทำให้รูปแบบสายชาร์จในตลาดมือถือลดลงจาก 30 รูปแบบ เหลือเพียง 2 แบบ คือ Micro-USB และ ไลท์นิ่ง ถือเป็นการปิดฉากยุคที่มือถือแต่ละยี่ห้อและรุ่นจะต้องใช้สายชาร์และหัวชาร์จเฉพาะของตนเองลงไปตลอดกาล รวมถึงมีผลทางอ้อมทำให้ Micro-USB ถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เกือบทุกชนิดด้วย

ยักษ์ไอทีเชื่อขัดขวางนวัตกรรม

ด้าน แอปเปิล ได้ออกแถลงการคัดค้านร่างกม.ฉบับนี้ว่า การบังคับมาตรฐานจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ขัดขวางการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคทั้งในยุโรปและทั่วโลกมากกว่า ซึ่งแถลงการฉบับนี้เป็นการยืนยันจุดยืนเดิมที่เคยแสดงเมื่อปีที่แล้ว ที่แอปเปิลระบุว่า การบังคับใช้ USB-C เป็นมาตรฐานจะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล เพราะผู้บริโภคจำนวนมากจะทิ้งสายชาร์จและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้พอร์ทไลท์นิ่ง 

อย่างไรก็ตาม แม้จะคัดค้าน แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ แอปเปิลเริ่มนำพอร์ท USB-C มาใช้กับสินค้าบางตัวของตนเช่น แมคบุ๊คและไอแพ็ดบางรุ่นแล้ว เนื่องจากสามารถรองรับการส่งกระแสไฟได้มากกว่า ในขณะที่ ไอโฟน 13 ยังคงใช้พอร์ทไลท์นิ่งอยู่ พร้อมกับเดินหน้าแผนลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเลิกแถมที่ชาร์จเมื่อซื้อไอโฟน

ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แอปเปิลจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากปัจจุบัน ไอโพนยังคงใช้พอร์ทเชื่อมต่อแบบ ไลท์นิ่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยักษ์อิเล็กทรอนิคส์พัฒนาขึ้นเองและใช้อยู่เพียงรายเดียว แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นทั้งฝั่งเกาหลีและจีนที่เริ่มหันมาใช้พอร์ท USB-C ในอุปกรณ์เกือบทุกประเภทและทุกรุ่น ยกเว้นเพียงรุ่นระดับล่างที่ยังคงใช้พอร์ท Micro USB

การปรับเปลี่ยนเป็นพอร์ท USB-C อาจทำให้ยักษ์ไอทีต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับไลน์การผลิต รวมถึงอาจเสียรายได้จากการขายอุปกรณ์เสริม อย่าง สายชาร์จ ด้วย