หวังปิดดีล ธุรกิจโน้ตบุ๊ก “โตชิบา” เปิดทาง “อัสซุส”

คอลัมน์ MARKET MOVE

ในระหว่างที่ดีลขายกิจการผลิตชิปหน่วยความจำมูลค่า 2 ล้านล้านเยนยังสะดุดปัญหาเรื่องสิทธิในโรงงานและเทคโนโลยีกับเวสเทิร์นดิจิทัลนั้น

“โตชิบา” ยังเดินหน้าขายธุรกิจอื่นในเครือออกไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาเม็ดเงินมาชดเชยความเสียหายจากการล้มละลายของธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ได้ขายธุรกิจหลายด้านออกไป อาทิ ธุรกิจภาพและเสียงที่ “ไฮเซนส์” (Hisense) ซื้อไป เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายให้กับ “มีเดีย” (Midea) ในปีที่แล้ว ส่วนโซนี่ซื้อธุรกิจผลิตเซ็นเซอร์กล้องดิจิทัลไปเมื่อปี 2558

ล่าสุดสำนักข่าวนิกเคอิ รายงานว่า “โตชิบา” อยู่ระหว่างเจรจากับ “อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์” (Asustek Computer) ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบรนด์อัสซุสจากไต้หวัน เพื่อขายธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งขาดทุนมานานออกไป

แม้ขณะอยู่ในมือของโตชิบาธุรกิจนี้จะขาดทุนถึง 500 ล้านเยนในปีงบฯที่แล้ว และจ่อจะขยายเป็น 5 พันล้านเยนในปีงบฯปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2561 หลังการแข่งขันราคาดุเดือดทำให้สัดส่วนกำไรและยอดขายลดลงต่อเนื่องจนหลุดจากตำแหน่งผู้นำตลาดมาเหลือส่วนแบ่งไม่ถึง 1% ของตลาดโลกแต่ก็ยังถือเป็นโอกาสสำหรับฝั่งผู้ซื้อ เพราะสินค้าคอมพิวเตอร์แบรนด์โตชิบาได้รับความเชื่อมั่นสูงในตลาดยุโรปและสหรัฐ จึงสามารถใช้เป็นใบเบิกทางรุกเข้าสู่ทั้ง 2 ตลาดได้ ซึ่งอัสซุสเองต้องการเสริมแกร่งตลาดคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ขณะเดียวกันเรื่องนี้ทำให้

“เลอโนโว” (Lenovo) ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติจีนยังแสดงท่าทีสนใจซื้อธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน หลังจากได้ซื้อธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของทั้งเอ็นอีซีและฟูจิตซึไปแล้ว

ทั้งนี้สัปดาห์ที่แล้ว โตชิบาได้ปิดดีลขายหุ้น 95% ของธุรกิจภาพและเสียง “โตชิบา วิชวล โซลูชั่น” (Toshiba Visual Solutions) ให้กับ “ไฮเซนส์” หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนในมูลค่า 1.29 หมื่นล้านเยน โดยดีลนี้ไฮเซนส์จะได้ทั้งโรงงาน 2 แห่งในญี่ปุ่น ทีมวิจัยพัฒนา ฝ่ายขาย และสิทธิบัตรต่าง ๆ รวมถึงสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าโตชิบานาน 40 ปี โดยคาดว่าดีลนี้จะเสร็จสิ้นช่วงเดือน ก.พ.ปี 2561

“หลิว ฮองซิน” ซีอีโอของไฮเซนส์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำทรัพยากรที่ได้ทั้งด้านวิจัยพัฒนาและช่องทางขายมาหนุนตลาดทีวี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคอนเทนต์สำหรับสมาร์ททีวี และแชร์โนว์ฮาวด้านเทคโนโลยีหน้าจอ เพื่อรุกตลาดสมาร์ททีวีโลก พร้อมเร่งการเติบโตในตลาดญี่ปุ่น ด้วยกลยุทธ์มัลติแบรนด์ รวมถึงการสร้างความรับรู้ในวงกว้างอย่างเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอลโลกปี 2018 ที่จะถึงนี้

โดยปีที่แล้วในตลาดทีวีญี่ปุ่น โตชิบามีส่วนแบ่งอันดับ 3 ส่วนไฮเซนส์เป็นผู้นำในกลุ่มทีวีแบรนด์ต่างชาติ ด้านตลาดทีวีโลกไฮเซนส์ครองตำแหน่งที่ 3 และยังเป็นผู้นำตลาดทีวีจีนต่อเนื่องนานถึง 13 ปี

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของไฮเซนส์ในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะความสัมพันธ์กับชาร์ปเริ่มมีปัญหาหลังชาร์ปพยายามดึงสิทธิ์ทำตลาดทีวีในสหรัฐคืน

สำหรับประเทศไทยนั้น บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงระบุว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการบริหารงานของบริษัท เนื่องจาก Toshiba Visual Solution Corporation มิได้ถือหุ้นในบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ดังนั้นการดำเนินธุรกิจสินค้าหมวดภาพและเสียงของโตชิบาในประเทศไทย ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ