สธ. ปิดฉาก รพ.บุษราคัม จบภารกิจ 130 วัน ดูแลผู้ป่วยโควิด

สธ. ประกาศปิด รพ.บุษราคัม อย่างเป็นทางการ จบภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิดกว่า 2 หมื่นคน ตลอด 130 วัน พร้อมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 30 กันยายน 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในพิธีปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี โดยระบุว่า หากย้อนกลับไป รพ.บุษราคัม เปิดให้บริการตั้งแต่ 14 พ.ค. 64 เพื่อรับผู้ป่วยโควิดเขต กทม. และปริมณฑล

ถือเป็นโรงพยาบาลสนามที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง เกิดจากความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 7 วัน จำนวน 1,000 เตียง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

ต่อมาได้ขยายเป็น 3,700 เตียง เปิดไอซียูสนาม หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม รับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

อย่างไรก็ดี การปิด รพ.บุษราคัม ถือเป็นการจบภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิดกว่า 130 วัน จำนวน 20,436 ราย หลังช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อย ๆ จนในเดือน ก.ย. เหลือเพียง 5-6 ราย/วัน เท่านั้น

ทำให้ขณะนี้ได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ปฏิบัติงานที่ รพ.บุษราคัม กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ของตนเอง

ส่วนพื้นที่โรงพยาบาลบุษราคัมได้ทำการรื้อถอนและทำความสะอาดพื้นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ได้จัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลภูมิภาคทั่วประเทศตามที่ได้สำรวจความต้องการของพื้นที่ไว้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ปรับรูปแบบให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยเข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน, กักตัวที่ชุมชน, ศูนย์พักคอย, โรงพยาบาลสนาม หรือในฮอสพิเทล

ส่วนผู้ที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนักส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาล และจากมาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มข้น ส่งผลให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีอัตราครองเตียงลดลง โดยเฉพาะในเขต กทม. และปริมณฑล แต่ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุด ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา และมารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ขอขอบคุณแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละมาปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ รพ.บุษราคัม เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบสาธารณสุขในช่วงภาวะวิกฤต รวมถึงผู้มีจิตศรัทธามอบสิ่งของอุปโภค บริโภค อุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกในภารกิจดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ทำให้ประสบความสำเร็จและจบภารกิจได้อย่างสมบูรณ์