“ไทยเบฟฯ” ย้ำเบอร์ 1 อาเซียน เตรียมนำร่องศึกษารถยนต์ไฟฟ้า EV

“ไทยเบฟ” เปิดยอดขาย-กำไร 9 เดือน โตสวนกระแส ย้ำผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เร่งจัดทัพธุรกิจ “แอลกอฮอล์” ต้านพิษโควิด เผยเคล็ดลับเหล้ายอดละลิ่ว ลั่นปี 2568 ขึ้นเบอร์ 1 เบียร์ไทย คุมเข้มต้นทุนธุรกิจอาหาร เดินหน้าเจาะค้าปลีกในชุมชน นำร่องศึกษารถไฟฟ้า EV

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อวางแผนรับมือกับวิถีใหม่ในยุค new normal สำหรับไทยเบฟฯเองก็เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์มีการปิดช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ แต่จากการปรับแผนการดำเนินงาน และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

กลายเป็นบริษัทเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเอเชีย ในด้านรายได้และมูลค่าทางการตลาด โดยผลประกอบการงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดขาย 192,120 ล้านบาท เติบโต 1.1% และกำไรเพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 36,638 ล้านบาท

“โควิดไม่ได้หายไป เพียงแต่เราจะอยู่กับมันอย่างไร และรู้วิธีอยู่กับมันอย่างไรให้คุ้นชินเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับไทยเบฟฯที่อยู่ระหว่างการปรับตัว เปลี่ยนผ่านระหว่าง Vision 2020 สู่ Passion 2025 เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มชินกับกระแส digitalization ไปสู่ยุคของ effective collaboration”

แผนงานต่อจากนี้จะยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องลดงบประมาณการลงทุนไปบ้าง แต่ในช่วง
6 เดือนที่ผ่านมา ลงทุนไปแล้ว 1,662 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ใช้งบฯลงทุนไป 5,400 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ Passion 2025 ผ่านกลยุทธ์หลัก ได้แก่ การสร้างความสามารถและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ (build) ด้วยการต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่

ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ตลาดโลก และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจและมองหาตลาดใหม่ ๆ, การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก (strengthen) ย้ำผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารครบวงจรในอาเซียน รวมถึงการนำศักยภาพของไทยเบฟฯที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด (unlock) รวมทั้งขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

โดยในส่วนของกลุ่มธุรกิจสุรา แม้ที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ล็อกดาวน์ แต่ในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ซึ่งตอบรับกับการบริโภคที่บ้าน เช่น ที่ผ่านมาได้ปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์สุราสี หงส์ทอง ขนาด 350 มล. และ 700 มล. ให้หรูหราและทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมเติบโตกว่า 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ เติบโตเพิ่มถึง 26% สำหรับเมอริเดียน บรั่นดี เติบโต 39% เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมา ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

เช่นเดียวกับธุรกิจเบียร์ที่แม้ตลาดรวมเบียร์ในไทยจะติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี หรือติดลบ 20% จากสถานการณ์โควิด-19 แต่บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตได้ดี จากการปรับตัวอย่างรอบด้าน โดยปัจจุบันเบียร์ช้างมีส่วนแบ่งทางการตลาด 33% เป็นเบอร์ 2 ในตลาด และตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดในปี 2568

ขณะที่กลุ่มธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ยังคงเดินหน้าปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการ รวมถึงการให้บริการกับร้านค้า พร้อมทั้งบริหารต้นทุนอย่างระมัดระวัง ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ปรับรูปแบบการขายมุ่งเน้นร้านค้าปลีก ร้านค้าในชุมชนมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขาย และช่วยให้พนักงานขายสามารถทำงานผ่านแท็บเลต เพื่อทำให้บริษัทสามารถให้บริการร้านค้าได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารจะขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์หลัก 1.drive brand penetration & accessibility ขยายสาขาในรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง food truck และร้านแบบ to go 2.grow off-premise channels เสริมแกร่งและขยายช่องทางการขายนอกสถานที่ 3.digitize customer engagement สร้างความผูกพันกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล 4.innovation นำนวัตกรรมมาสร้างประสบการณ์ใหม่เพิ่มความสะดวกสบาย ความปลอดภัยให้กับลูกค้า และ 5.sustainability ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดด้านความยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ Passion 2025 คือ การปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจไทยเบฟฯ ทั้งกลุ่มสินค้า คน อสังหาริมทรัพย์ และพันธมิตร เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้น ล่าสุดคือ การแยกกลุ่มธุรกิจเบียร์ ภายใต้เบียร์โค (BeerCo) ออกมา และนำเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และเดือนมีนาคม 2564 แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19”

นายฐาปนกล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ บริษัทยังกำลังศึกษาเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (electric vehicle) เพื่อรองรับเทรนด์โลก เบื้องต้นในปี 2565 จะเป็นช่วงของการศึกษาตลาด เพื่อมองหาคีย์สำคัญในทิศทางการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่ในปี 2566 จะเป็นปีของการเริ่มลงทุน ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนในปี 2568 และหากถึงเมื่อนั้นจริง บริษัทก็ต้องกลับมามองว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วหรือยัง หรือหากยังไม่มีการผลิตอาจจะต้องพิจารณาการลงทุนในรูปแบบของการนำเข้าแทน