“ฟาสซิโน” สู้ศึกร้านขายยา ชู 6 โมเดลชิงเค้ก 4 หมื่นล้าน

“ฟาสซิโน” ปรับตัวรับตลาดร้านขายยา 4 หมื่นล้านแข่งเดือด เดินหน้าผุดสาขาเจาะ กทม.-หัวเมืองใหญ่ สลัดภาพร้านขายยาแบบเก่า ตั้งเป้า healthcare destination ขนทัพสินค้าหมื่นเอสเคยู เอาใจคนรักสุขภาพ พร้อมป้อนสินค้าใหม่ลงสโตร์เดือนละ 100 เอสเคยู ลงทุนไอทีรับกระแสดิจิทัล-อีคอมเมิร์ซมาแรง งัดกลยุทธ์ CRM สร้างแบรนด์ลอยัลตี้ มั่นใจสิ้นปีโตดับเบิลดิจิต

ร้านขายยาที่มีมูลค่าตลาดรวมราว 40,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดรับกับกระแสรักสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งมีเรื่องของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ประกอบการรายใหม่กระโดดเข้ามาชิงเค้กก้อนนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยปัจจุบันคาดว่ามีร้านขายยามากถึง 20,000 แห่งทั่วประเทศ

นางสาวญาณิณ พิศาลวาเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรฟาสซิโน จำกัด เชนร้านยา “ฟาสซิโน” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ปี 2563 ธุรกิจร้านขายยาเติบโตขึ้นถึง 7.5% จากกระแสโควิดหนุนผู้บริโภคตื่นตัวในเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยการแพร่ระบาดยืดเยื้อส่งผลให้ในปี 2564 ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อตกต่ำลง ซึ่งความถดถอยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบถึงร้านขายยาด้วย

จนเมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดขายกลับมาพีกอีกครั้งหนึ่งและจากโควิดระลอกล่าสุด ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับโควิดเติบโตมากขึ้น อาทิ ATK แอลกอฮอลล์ ฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว เช่นเดียวกับยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน เป็นต้น ที่มีดีมานด์สูงขึ้นเนื่องจากไม่สามารถไปรักษาในโรงพยาบาลหรือถูกเลื่อนการรักษาออกไป รวมถึงกลุ่มสร้างเสริมสุขภาพ เช่น วิตามิน ที่เติบโตมากขึ้น

“แม้ภาพรวมด้านยอดขายจะเติบโต แต่ธุรกิจร้านยามีการแข่งขันสูง ปัจจุบันมีร้านยามากกว่า 2 หมื่นร้าน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบในแง่พื้นที่และประชากร และเติบโตอยู่ในวงจำกัด แต่ในอนาคตอาจมีผู้เล่นรายใหญ่จากธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก หรือแม้กระทั่งปั๊มน้ำมัน อาจเปิดเชนสโตร์ยาเป็นของตัวเอง การแข่งขันก็จะมีมากขึ้น ในอนาคตร้านขายยาอาจโตไปได้ถึงหลัก 90,000-100,000 ล้านบาท”

นางสาวญาณิณกล่าวว่า เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นฟาสซิโนจึงต้องสร้างความแข็งแกร่งของเชนสโตร์เพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความหลากหลายของโมเดลธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 107 สาขา ครอบคลุม 40 จังหวัด ใน 6 โมเดล ได้แก่ 1.Grab&Go ร้านขนาดเล็กอยู่ในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต 2.Community Pharmacy ร้านขายยาในย่านชุมชนและจุดทราฟฟิกสูง 3.Hyper Market ในห้างสรรพสินค้า และโมเดิร์นเทรด 4.Tourist Area ร้านขายยาในแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต 5.Pharmacy Center รูปแบบศูนย์ยา และ 6. Fascino Plus ร้านขายยาที่เน้นความเป็น Healthcare Destination ศูนย์รวมสินค้าเกี่ยวกับเวลเนสทั้งหมด

โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 20 สาขา จากปัจจุบันที่เปิดไปแล้วกว่า 12 สาขา โดยจากนี้ไปจะเปิดเพิ่มเดือนละ 1-2 สาขา โดยในกรุงเทพฯ เน้นย่านชุมชน และต่างจังหวัดโฟกัสหัวเมืองใหญ่ จุดเซ็นเตอร์การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะใช้รูปแบบการเปิดสาขาด้วยตนเองมากกว่าการเปิดในรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของแบรนด์ฟาสซิโนให้อยู่ระดับเดียวกันทุกสาขา นอกจากนี้ยังเพิ่มจุดเด่นและสร้างความแข็งแกร่งด้วยจำนวนสินค้าที่มีมากถึง 10,000 เอสเคยู ไม่ว่าจะเป็นยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ หรือกระทั่งคอนซูเมอร์โปรดักต์ เฮลท์แคร์ต่าง ๆ โดยในแต่ละเดือนจะเพิ่มสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคกว่า 100 เอสเคยู

ควบคู่กับการทำช่องทางดิจิทัลส่งเสริมช่องทางขายหน้าร้าน สร้างการรับรู้แบรนด์ และเคลื่อนตัวเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านการลงทุนระบบสารสนเทศหรือ IT มากขึ้น โดยตอนนี้ฟาสซิโนมีเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น อาหารเสริม วิตามิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น พร้อมกับทำระบบ CRM

โดยมีทั้งการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพและการใช้ยาจากเภสัชกรตลอด 7 วัน พร้อมกับให้ความสำคัญกับบริการหลังการขายผ่านการจัดตั้งแผนกคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้บริการหลังการขาย แก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความไม่เข้าใจการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายมัดใจผู้บริโภคเพื่อสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้เกิดความเชื่อใจในแบรนด์ฟาสซิโน

“ปัจจุบันฟาสซิโนวางโพซิชั่นตนเองให้เป็นมากกว่าร้านยา เน้นความเป็น one stop service และ Healthcare Destination จุดหมายปลายทางของกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่มีสินค้าเฮลท์แคร์และเวลเนสให้เลือกอย่างหลากหลาย โดยไม่จำกัดอยู่ที่กลุ่มยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น ยังรวมไปถึงสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เช่น เวชสำอาง อาหารเสริม อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น รวมไปถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

โดยอนาคตอาจมีแพลตฟอร์มเทเลฟาร์มาซีเป็นของตนเอง หากกฎหมายอนุญาต ส่วนแผนในระยะยาวอาจจับมือพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างการเติบโต อาทิ เทเลเมดิซีน โรงพยาบาล โดยปี 2564 ตั้งเป้าการเติบโต 2 ดิจิต หลังปี 2563 เติบโตราว 7% ส่วนปี 2562 เติบโตถึง 16%” นางสาวญาณิณกล่าว