จีเอสเค-EACC-ทรู ลุยเทเลเมดิซีน ตั้งเป้า 3 ปี ขยายเข้า รพ. 500 แห่ง

จีเอสเค-EACC-ทรู รุกธุรกิจเทเลเมดิซีน ผุดคลินิกออนไลน์ภายใต้โครงการ Telehealth Together ปรึกษาแพทย์ จับกลุ่มคนไข้โรคหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภูมิแพ้ทางจมูก ก่อนขยายสู่โรคเรื้อรังอื่น ๆ ตั้งเป้า 3 ปี ขยายเครือข่าย รพ. 500 แห่ง หวังดันการแพทย์เข้าหาประชาชน ชี้ใช้สิทธิ์บัตรทองได้

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้เทคโนโลยีก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในระบบสาธารณสุขที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง ส่งผลให้ “เทเลเมดิซีน” ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักบนเมกะเทรนด์ประเทศไทย สะท้อนได้จากช่วงที่ผ่านมากลุ่มบริษัทสตาร์ตอัพ ไปจนถึงสถานพยาบาลเริ่มทยอยเปิดตัวอย่างจริงจัง ไม่ต่างจากจีเอสเค EACC และทรู ที่เปิดตัวลุยธุรกิจการแพทย์ทางไกล ภายใต้โครงการ “Telehealth Together” ขานรับเทรนด์ระยะยาว

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย เนื่องจากตอบโจทย์การเข้าถึงแพทย์ได้ง่ายในสถานการณ์โควิดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจยังมีความกังวลในการมาโรงพยาบาล แต่ต้องการการรักษาที่ทันท่วงที

ประกอบกับเทเลเมดิซีนในปัจจุบันมีทั้งการสื่อสารผ่านข้อความ เสียง ตลอดจนวิดีโอต่าง ๆ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการทางการแพทย์ออนไลน์มากขึ้น

ดังนั้น กลุ่มทรูจึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสาร สร้างแพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพขึ้นมาในแอปพลิเคชั่น “True HEALTH” เพื่อทำเป็นคลินิกปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่ต้องใช้การรักษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก โดยได้ผนึกกำลังกับ จีเอสเค EACC ภายใต้ชื่อโครงการ “Telehealth Together”

ADVERTISMENT

“แผนในเฟสแรกจะจับมือกับกลุ่มองค์กร เช่น โรงพยาบาล บริษัทประกัน เป็นต้น ในรูปแบบ B2B ส่วนแผนในระยะยาวจะจับกลุ่ม B2C และในอนาคตจะค่อย ๆ ขยายไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ อาทิ เกาต์ จากตอนนี้มุ่งดูแล 3 โรคในโครงการ คือ หืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภูมิแพ้ทางจมูก ส่วนเทรนด์การรักษาในอนาคตเชื่อว่าการรักษาพยาบาลจะเป็นในรูปแบบไฮบริดมากขึ้น หรือเป็นการรักษาใหญ่โรงพยาบาล แต่การติดตามผลอย่างต่อเนื่องจะเป็นในทางออนไลน์”

ด้าน รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย หรือ EACC กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ มีเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และมีคนไข้ในมือกว่า 6 แสนราย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหืดถึง 3 ล้านคน แต่มีข้อจำกัดเรื่องการมา รพ.

ADVERTISMENT

การจับมือร่วมกับทรูและจีเอสเคจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม ตรงตามยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นให้ความสำคัญในปี 2564 นี้ รวมไปถึงยังช่วยลดต้นทุนทั้งในส่วนของ รพ. และประชาชน ในการวอล์กอินเข้ามารักษาอีกด้วย

“โครงการดังกล่าวประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคน เนื่องจากอนุมัติให้ใช้สิทธิ์บัตรทองได้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ส่วนการเข้าถึงประชาชนจะเข้าถึงทุกภาคในทั่วประเทศ”

นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ผู้ดำเนินธุรกิจวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม กล่าวว่า ในส่วนของโครงการคลินิกออนไลน์ดังกล่าว จีเอสเคจะเข้ามาสนับสนุนด้านข้อมูลทางการแพทย์ (Scientific Information) และนวัตกรรมทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

ตลอดจนร่วมสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์โดยรวม ซึ่งในเบื้องต้นจะนำร่องใช้กับโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม และคาดว่าจะสามารถขยายเพิ่มมากกว่า 100 แห่งในปี 2565 และมากกว่า 500 แห่งในปีถัดไป

“ปัจจุบันจากการนำร่อง 15 โรงพยาบาล สามารถเข้าถึงประชาชนเฉลี่ย รพ.ละ 700 ราย หรือรวมทั้งหมดราว 10,500 คน อนาคตหากขยายการจับมือกับสถานพยาบาลต่าง ๆ คาดว่าจะทำให้คนไทยอีกจำนวนมากเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สูง”