วัคซีนโปรตีนซับยูนิตไต้หวัน ได้ร่วมทดลองกับ องค์การอนามัยโลก

วัคซีนโควิด MVC-COV1901 เข้าร่วมการทดลองขององค์กรอนามัยโลก
FILE PHOTO : AFP

วัคซีนโปรตีนซับยูนิต MVC-COV1901 ของบริษัท เมดิเจน ได้รับการเสนอชื่อให้รวมอยู่ในการรายชื่อวัคซีน ในโครงการทดลองที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัคซีน MVC-COV1901 โดย Medigen Vaccine Biologics Corp (MVC) ได้รับการเสนอชื่อโดยกลุ่มที่ปรึกษาการจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนอิสระกลุ่มหนึ่ง ให้รวมอยู่ในการรายชื่อวัคซีนในโครงการทดลอง Solidarity Trial (STv) ที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

ภายหลังจากการพิจารณาวัคซีนราว 20 ชนิดโดยกลุ่มที่ปรึกษาดังกล่าว ทำให้วัคซีนของ MVC ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในวัคซีน 2 ชนิดที่จะรวมอยู่ในการทดลองระดับโลกนี้

การประกาศของ WHO เกิดขึ้นหลังจากที่ทางคณะกรรมการทบทวนจริยธรรมของ WHO รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการจริยธรรมของโคลอมเบีย มาลี และฟิลิปปินส์ มีมติอนุมัติให้การศึกษาวิจัยดังกล่าวดำเนินต่อได้ โดยสถานที่ทดลองทางคลินิกแต่ละแห่ง รวมถึงผู้วิจัยหลักและทีมวิจัยประจำสถานที่ทดลองในประเทศเหล่านี้ ได้เริ่มมีการคัดเลือกอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองแล้ว

โครงการนี้เป็นแพลตฟอร์มการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มระดับนานาชาติ ที่ออกแบบขึ้นเพื่อเร่งประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนตัวใหม่ เพื่อเพิ่มวัคซีนใหม่ ๆ ลงในกลุ่มวัคซีนปกป้องผู้คนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

MVC เริ่มพัฒนาวัคซีนของตนเองในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้วยความหวังที่จะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นส่วนช่วยยุติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ร้ายแรงได้ MVC-COV1901 เป็นวัคซีนแบบซับยูนิตที่มีแอนติเจนลูกผสม S-2P เสริมด้วย CpG 1018 ที่ได้จากบริษัท Dynavax และอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

Charles Chen รองประธานและซีอีโอประจำ Medigen Vaccine Biologics Corp. กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองวัคซีน Solidarity Trial ระดับนานาชาติของ WHO เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 เรากำลังดำเนินการออกแบบวัคซีนที่มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย

และป้องกันผู้คนจากผลกระทบด้านลบของไวรัสได้ตลอดเวลา การที่ผลลัพธ์ดูมีศักยภาพดีทำให้เราหวังว่า การทดลองระดับนานาชาติที่ดำเนินการโดย WHO และประเทศที่เข้าร่วมนี้ จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยได้”

เนื่องจากการต่อสู้กับโรคระบาดยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจึงยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก และ MVC เชื่อว่าบริษัทมีขีดความสามารถ โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการป้องกันทั่วโลก

เกี่ยวกับ MVC-COV1901

MVC-COV1901 เป็นวัคซีนแบบซับยูนิตที่มีแอนติเจนลูกผสม S-2P เสริมด้วย CpG 1018 ที่ได้จากบริษัท Dynavax และอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ แอนติเจน S-2P เป็นโปรตีนหนามลูกผสมประเภทไตรเมอร์ชนิด prefusion-stable ที่พัฒนาโดย U.S. NIH บริษัทได้รับใบอนุญาตเทคโนโลยีระดับโลกสำหรับ S-2P จากศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH)

MVC ดำเนินการคัดกรองสารเสริมต่าง ๆ ในสเกลใหญ่และสรุปองค์ประกอบของวัคซีน MVC-COV1901 บนแพลตฟอร์ม S-2P เพื่อเพิ่มขีดความปลอดภัยและคุณสมบัติการสร้างภูมิคุ้มกันที่ต้องการ MVC ได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีน MVC-COV1901 และอ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาระยะก่อนคลินิก ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของตน

โดยวัคซีน MVC-COV1901 ได้แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และด้วยเหตุนี้จึงมีการนำผลไปใช้และได้รับการรับรอง EUA ในไต้หวัน และกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตามระเบียบข้อบังคับสากลต่อไป

วัคซีนโปรตีนซับยูนิต

ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลสินแพทย์ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดย แพทย์หญิงร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน แพทย์ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ กล่าวถึง วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (subunit vaccine) ว่า เป็นวัคซีนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีนของไวรัส วัคซีนชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส แล้วสกัดเอาส่วนโปรตีน ที่เป็นส่วนหนามมาทำเป็นวัคซีน

จากนั้นจึงฉีดเข้าร่างกาย ให้ร่างกายรู้จักกับหนามของไวรัสโดยตรง เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานาน และปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับวัคซีนชนิดต่าง ๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ส่วนวัคซีนโควิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือวัคซีนของบริษัทโนวาแวกซ์

ไต้หวันอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 รอยเตอรส์ รายงานว่า รัฐบาลไต้หวันได้อนุมัติให้ใช้และผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท เมดิเจน วัคซีน ไบโอโลจิกส์ คอร์ป สัญชาติไต้หวัน เป็นกรณีฉุกเฉินในไต้หวันแล้ว ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญของไต้หวันในความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขึ้นเอง

การเปิดไฟเขียวให้กับวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไต้หวันมีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมดิเจนได้เร่งให้รัฐบาลให้อำนาจใช้เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับวัคซีนที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 2 แล้ว โดยการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขึ้นเองเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไต้หวัน แม้ว่าไต้หวันจะสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า และได้รับการแบ่งปันภายใต้โครงการโคแวกซ์แล้ว

กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันระบุว่า ในการทดลองทางคลินิกในไต้หวันพบว่า การสร้างแอนติบอดีในร่างกายที่เกิดจากวัคซีนสูตรของเมดิเจนนั้นถือว่าไม่ได้แย่ไปกว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเลย และยังไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่สำคัญด้วย

และว่า บริษัทเมดิเจนต้องเสนอรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้ ที่มีชื่อว่า MVC-COV1901 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccine) ที่เมดิเจนพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือกับสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้ได้กับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับวัคซีน 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน

นายเฉิน สือ จง รัฐมนตรีสาธารณสุขไต้หวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ต่อจากนี้ทางบริษัทอาจใช้เวลาสักระยะในการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน โดยควรจะมีวัคซีนออกมาใช้ได้ส่วนหนึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา