“ส.ค้าปลีก” ชงแผนฟื้นประเทศ โควิดกระทบธุรกิจสูญ 8 แสนล้าน

ส.ผู้ค้าปลีกไทย ชี้โควิดกระทบภาคค้าปลีกและบริการสูญ 8 แสนล้าน คนว่างงาน 3.2 ล้านราย ชงแผน “7S Recovery” เสนอรัฐเร่งฟื้นฟูประเทศ หวังปลุกเศรษฐกิจไทยโค้งแรกปี’65 ฟื้น 1.5 ล้านล้านบาท

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุด หลังผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ส่งให้มูลค่าค้าปลีกและบริการสูญหายกว่า 8 แสนล้านบาท มีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน(ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) และแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านคน

หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและกว้าง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งเครื่องเพื่อผลักดันให้ฟื้นตัวโดยเร็ว จากปัจจุบันที่จีดีพีติดลบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวางกลยุทธ์และแผนรองรับในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาวโดยแนวทางของการฟื้นฟูจึงควรต้องเริ่มจากการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนไปจนถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน

ล่าสุดสมาคมขอนำเสนอแนวทาง “7S Recovery” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยเร่งด่วน ผ่าน 7 ข้อหลักดังนี้ 1.stimulus consumption การฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ใช่แค่เยียวยา

แต่ต้องเป็นการฟื้นฟูให้ลุกขึ้นมาเดินหน้าธุรกิจ ก้าวแรกคงต้องเป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย ใช้ของไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า (พ.ย. 64-มิ.ย. 65), การเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้

รวมทั้งนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ โดยเพิ่มวงเงินเป็น 2 แสนบาท จากเดือน ธ.ค. 64-ก.พ. 65 และรัฐบาลจะต้องมีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภค นับจากเดือน ธ.ค. 64-มิ.ย. 65

ซึ่งโดยรวมแล้ว S แรก จะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จากนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย. 65 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของ GDP

2.support employment การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการที่มีการจ้างงานกว่า 11.2 ล้านคน และส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานนอกระบบ

ซึ่งคาดว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะมีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) ไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านคน ภาครัฐต้องมีนโยบาย ทั้งมาตรการรักษาการจ้างงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี, การทดลองใช้การจ้างงานแบบรายชั่วโมง โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน และการเพิ่มทักษะแรงงาน

3.strengthen SMEs จากข้อมูลของ สสว. พบว่า จำนวน SMEs ทั่วประเทศมีกว่า 3,070,177 ราย ซึ่ง 44.58% อยู่ในภาคการค้าปลีก และ 35.73% อยู่ในภาคบริการ อาหารและเครื่องดื่มรัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอย่างเร่งด่วนเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดให้เข้าถึงแหล่งทุน

รวมทั้งควรมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้กับ SMEs รายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วและมีเสถียรภาพอีกครั้ง

4.speed up digital economy รัฐบาลต้องมีนโยบายในการลดกฎระเบียบ และพัฒนาระบบ cloud computing, AI และ data center ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ เพราะทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้

5.simplify regulation ปรับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้น (ease of doing business) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้โดยตรง

และลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพีไทย การแก้ไขกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

6.sustainable public health การให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุข ทั้งการmonitoring ควบคุม และระมัดระวัง การแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด การพิจารณาล็อกดาวน์ในพื้นที่โซนที่เกิดการแพร่กระจายของโรคโดยไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เร่งการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส อย่างน้อย 70% ของประชาชน และรณรงค์ stay healthy ประชาชนการ์ดต้องไม่ตก

7.spike up private investment ภาครัฐต้องมีการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้อย่างทันที และจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี สมาคมเล็งเห็นว่านี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นโค้งสุดท้ายของวิกฤตโควิด และเป็นโค้งแรกแห่งความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงต้องมองข้ามชอตถึงอนาคต

มากกว่าการพึ่งพาการเยียวยาเพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลยุทธ์ที่เข้มแข็ง ลงมือปฏิบัติจริงจังและทันทีเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไม่ประมาท บนพื้นฐานของมาตรการความปลอดภัย พร้อมสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับทุกคนอย่างไร้กังวล