มอริส ลาครัวซ์บุกนาฬิกาหรู ปักหมุดช็อปแห่งแรกในไทย

นาฬิกา มอริส ลาครัวซ์

นาฬิกาหรูลุ้นปัจจัยบวกหนุนตลาดฟื้น หลังโควิดกระทบบิ๊กอีเวนต์นาฬิกาโลกชะงัก 2 ปีต่อเนื่อง “มอริส ลาครัวซ์” แบรนด์หรูจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดทัพรุกตลาดไทยชูการตลาดออนไลน์-โรดโชว์ เปิดตัว 2 เรือธงใหม่ “ไอคอน เออร์เบิน ไทรบ” ปลุกกำลังซื้อตลาดบน ก่อนปล่อยต่อ “มาสเตอร์คอลเล็กชั่น” เพิ่มอีก 1 รายการ ก่อนปักหมุดบูทีคช็อปแห่งแรกในไทย ณ เกษรวิลเลจ เม.ย.ปีหน้า

นายมาร์แซล กู้ด ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายระดับสากล นาฬิกามอริส ลาครัวซ์ ภายใต้บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้งานอีเวนต์นาฬิการะดับโลกหลายงานต้องงดการจัดงาน โดยเฉพาะงานบาเซิลเวิลด์ และทำให้บริษัทต้องปรับตัวรวมถึงแผนการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่น

และให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ความปลอดภัยของพนักงาน ธุรกิจที่ยังต้องดำเนินต่อ และกำหนดการวางขายสินค้าใหม่ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ผ่านการทำตลาดด้านดิจิทัลเพื่อสร้างการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศ โดยตลาดเอเชียเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากของแบรนด์ โดยตลอดช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศ ผ่านการสื่อสารการตลาด ผ่านแคมเปญที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละประเทศ

โดยภาพรวมของปี 2564 เป้าหมายของเราคือ การสร้างความต่อเนื่องในเรื่องที่เราได้สร้างมาโดยตลอดในระยะเวลา 5 ปีนี้ ให้เติบโตขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นนาฬิกา โดยเฉพาะ AIKON Collection รวมถึงการสร้างความทันสมัยให้กับรุ่นอื่น ๆ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผ่านพันธมิตรต่าง ๆ ที่คงมีความสัมพันธ์อันดีอยู่กับตัวแบรนด์ และลูกค้าของเราที่มีอยู่ทั่วโลก”

นายมาร์แซล กู้ด กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองได้มีการปรับรูปแบบการเปิดตัวสินค้า จากเดิมที่อาศัยการเปิดตัวผ่านงานมหกรรมนาฬิการะดับโลกเป็นหลัก มาเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ แทน รวมถึงการสร้างความต่อเนื่องของอีคอมเมิร์ซ ผนวกกับการใช้พาร์ตเนอร์คู่ค้าในการสร้างแบรนด์ ไปยังกลุ่มแฟนคลับและขยายฐานไปยังกลุ่มใหม่ ๆ

ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์ด้วยการออกโรดโชว์ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย เยอรมนี อเมริกา เป็นต้น เพื่อนำเสนอนาฬิการุ่นใหม่ ๆ ให้กับตัวแทนจำหน่ายและสื่อมวลชนของแต่ละประเทศ

“เเม้ปีที่ผ่านมาตลาดนาฬิกาโลกจะได้รับผลกระทบ งานใหญ่ ๆ หลายงานต้องงดการจัดงาน แต่เราได้มีโอกาสไปร่วมงาน Geneva Watch Day โดยได้นำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ที่เป็นการผสมผสานทั้งภาพเสมือนและของจริง โดยได้สร้าง professional studio ขึ้นที่โรงงานของเราในเมืองแซงแญแลฌีเยร์ (Saignelegier)รัฐฌูว์รา (Jura) สวิตเซอร์แลนด์

และเพิ่งได้ใช้ในงานเปิดตัวนาฬิการุ่น AIKON GMT ผ่านช่องทางดิจิทัล และทำให้เราได้สื่อสารกับสื่อมวลชนผ่านทาง YouTube ด้วยการแสดง video presentation ซึ่งเป็นการปรับตัวในช่วงที่โควิดยังแพร่ระบาดไปทั่วโลก”

ล่าสุดได้เปิดตัวนาฬิกาคอลเล็กชั่นใหม่ “ไอคอน เออร์เบิน ไทรบ” ที่ผลิตขึ้นเพียง 500 เรือนทั่วโลก และมีในไทยเพียงแค่ 20 เรือนเท่านั้น ในราคา 89,000 บาท มีเอกลักษณ์คือ ตัวเรือนและสายนาฬิกาที่ถูกแกะสลักเลเซอร์ ด้วยลวดลายอันหลากหลายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียง ภายใต้ภูมิทัศน์ของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก

นำมาถ่ายทอดผ่านเส้นสายและส่วนโค้ง ที่ตกแต่งลงบนพื้นผิวสตีลของนาฬิกา ด้วยการทำแคมเปญในแต่ละเมืองที่มีการทำตลาดทั่วโลก เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่ชื่นชอบนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายในเรือนเดียว พร้อมกันนี้ยังมีแผนเปิดตัวนาฬิกาหรูจากคอลเล็กชั่น “มาสเตอร์คอลเล็กชั่น” เพิ่มอีก 1 รายการในปีนี้

นายมาร์แซล กู้ด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเปิดบูทีคช็อปแห่งแรกในประเทศไทยที่เกษรวิลเลจ บนพื้นที่ 50 ตร.ม. จากปัจจุบันที่บริษัทมีจุดจำหน่ายในรูปแบบเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้าราว 11 สาขา โดยเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายนปี 2565 เพื่อเป็นการรองรับแนวโน้มตลาดนาฬิกาหรูในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้แก่แบรนด์อีกด้วย และประเมินว่าสถานการณ์ตลาดนาฬิาโลกในปีหน้า หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาพรวมตลาดนาฬิกาโลกจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยในส่วนของประเทศไทยบริษัทยังคงเดินหน้ารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับตลาดนาฬิกาหรูที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากยอดการสั่งจองนาฬิกาคอลเล็กชั่นใหม่ “ไอคอน เออร์เบิน ไทรบ” ที่หมดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การระบาด และสามารถทำกำไรได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและวางโพซิชันนิ่งที่ชัดเจนนั้น สามารถเพิ่มยอดขายโดยรวม และสร้างความนิยมให้กับคอลเล็กชั่นได้เป็นอย่างดี

ขณะที่มูลค่าการส่งออกโดยรวมของแบรนด์นาฬิกาสวิสไปทั่วโลกในปี 2020 อยู่ที่ 140 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งลดลงไปถึง 38.8% เมื่อเทียบกับปี 2019 แต่เมื่อเทียบเฉพาะประเทศไทยซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากเท่ากับฝั่งยุโรป จะมีอัตรามูลค่าหดตัวน้อยกว่า เพียงแค่ 21.8% เท่านั้น