อานิสงส์เปิดประเทศแรง หนุนสินค้าท่องเที่ยวสิงคโปร์ฟื้นตัว

MARKET MOVE

 

ระหว่างที่ไทยกำลังลุ้นกับผลตอบรับของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีนั้น สิงคโปร์ซึ่งเปิดประเทศไปก่อนหน้าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายวัคซิเนเต็ดแทรเวลเลน (vaccinated travel lane-VTL) ด้วยความร่วมมือกับ 11 ประเทศ คือ เกาหลีใต้, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เดนมาร์ก, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, บรูไน และเยอรมนี ซึ่งทำให้นักท่ญฉองเที่ยวที่เดินทางระหว่างสิงคโปร์และประเทศเหล่านี้ไม่ต้องเข้ากระบวนการกักกันโรคทั้งขาเข้าสิงคโปร์และขากลับเข้าประเทศต้นทาง

ส่งผลให้บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านกระเป๋าเดินทาง-เสื้อกันหนาว ร้านแลกเงิน ฯลฯ เริ่มได้รับผลบวกจากมาตรการนี้แล้ว

สำนักข่าวแชนเนลนิวส์ เอเชีย ของสิงคโปร์ รายงานว่า ร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหลายรายเริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% หลังรัฐบาลประกาศขยายจำนวนประเทศที่เข้าร่วมมาตรการเดินทางโดยไม่ต้องกักตัวหรือวัคซิเนเต็ดแทรเวลเลน โดยนอกจากลูกค้าหน้าร้านที่เพิ่มขึ้นแล้ว ห้างสรรพสินค้าบางแห่งเริ่มวางแผนจัดงานอีเวนต์ท่องเที่ยวในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และทยอยติดต่อไปยังบริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้มาร่วมออกบูท

“จอย ลิม” ผู้อำนวยการฝ่ายค้าปลีกและค้าส่ง บริษัทเดอะแทรเวลสโตร์ หนึ่งในเชนร้านสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

ไปในทิศทางเดียวกับเชนร้านสินค้าท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ เดอะแพลนเน็ต แทรเวลเวอร์ ซึ่ง “หยาง เฉิน หลิน” ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ระบุว่า ยอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10% โดยสินค้าที่ขายดีจะเป็นกระเป๋าเดินทางไซซ์ใหญ่ และกลุ่มของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างตัวแปลงปลั๊กไฟ และอุปกรณ์จัดระเบียบกระเป๋า

นอกจากสินค้าท่องเที่ยวโดยตรงอย่างกระเป๋าเดินทางแล้ว กลุ่มอุปกรณ์ป้องกันความหนาวเย็นก็เริ่มมีดีมานด์ด้วยเช่นกัน “รีเบกก้า พูน” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของร้านวินเทอร์ไทม์ระบุว่า แม้ขณะนี้ยอดขายหลักจะมาจากกระเป๋าเดินทาง แต่เสื้อกันหนาวเริ่มมีดีมานด์สูงขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากการมียอดขายเป็นอันดับ 2 รองจากกระเป๋าเท่านั้น

ด้านร้านแลกเงินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวก “โมฮัมเหม็ด ราฟีด” เจ้าของร้านแลกเงิน คลิฟฟอร์ด เจมส์ แอนด์ มันนี่เอ็กซ์เชนจ์ กล่าวว่า ในครึ่งหลังของเดือนตุลาคม ลูกค้าเพิ่มจาก 0-5 คนต่อวัน เป็นเฉลี่ย 10-13 คน ส่วนใหญ่มาแลกดอลลาร์สิงคโปร์เป็นวอนเกาหลี และยูโร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่บีบให้ผู้ประกอบการต้องดิ้นหาทางรอดไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้วยการปิดสาขา และเลิกจ้างพนักงาน เพื่อชดเชยกับรายได้ที่บางรายหดหายไปมากถึง 95% ของช่วงปกติ โดยเดอะแทรเวลสโตร์ปิดสาขา 3 แห่งจาก 5 แห่ง ส่วนวินเทอร์ไทม์ลดสาขาจาก 10 แห่งเหลือ 3 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงตั้งการ์ดสูงและจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด “รีเบกก้า พูน” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของร้านวินเทอร์ไทม์ อธิบายว่า ปัจจุบันร้านค้าต้องพึ่งโปรโมชั่นหนักหน่วงกว่าปกติเพื่อดึงดูดลูกค้า ทำให้แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนกำไรยังไม่มากเท่ากับช่วงปกติก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มที่มาจับจ่ายสินค้าท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นเหล่าเอ็กซ์แพต หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานในสิงคโปร์ ซึ่งอาศัยมาตรการแทรเวลเลนเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด โดยสะท้อนจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างกระเป๋าเดินทาง “ทาน เว่ย ลี” เจ้าของร้านสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ลักเกจเอาต์เลต กล่าวว่า ลูกค้าที่ซื้อกระเป๋าเดินทางในช่วงนี้มักจะซื้อไซซ์ใหญ่ครั้งละหลาย ๆ ใบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่ค่อยเห็นในกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่มักพบในกลุ่มคนทำงานมากกว่า

บรรดาธุรกิจค้าปลีกในสิงคโปร์จะได้อานิสงส์จากนโยบายวัคซิเนเต็ดแทรเวลเลนมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องจับตาสถานการณ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เช่น มาตรการเปิดประเทศของไทยที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยแม้จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ แต่มีจุดแตกต่างที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับออกจากไทยอาจจะต้องถูกกักตัวในประเทศต้นทาง จึงต้องดูกันว่าจะจูงใจนักท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงใด