GTG ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจกัญชง ลุย OEM-ส่งออกตีตลาดนอก

กัญชา

โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป ประกาศลุยธุรกิจกัญชงเต็มสูบ ชูสายพันธุ์กัญชงไทย “รักษา” ตีตลาดไทย-เทศ ชูจุดเด่นให้สารซีบีดีสูง ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 1 ตัน/ปี ก่อนต่อยอดสู่ธุรกิจกลาง สกัดสารซีบีดี รับจ้างผลิต “สินค้า-แปรรูป” เล็งต่อยอด พัฒนา-ขายเมล็ดพันธุ์ เปิดบริการออกแบบ-วางระบบการปลูก ผนึกเกษตรกรทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ขนทัพสินค้ากัญชงไทยลุยขายต่างประเทศ

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ GTG ผู้ผลิตและวิจัยด้านกัญชง-กัญชา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมกัญชงในตลาดโลกมีแนวโน้มดีมานด์สูง ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ประกอบกับประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านการเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีการทำ GMP สำหรับส่งออกในหลายอุตสาหกรรม ทำให้มาตรฐานคุณภาพในการส่งออกของประเทศไทยมีความพร้อมสูง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และที่สำคัญ คือ ต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งสร้างข้อได้เปรียบได้หลายประการ

ที่ผ่านมาตลาดกัญชง-กัญชามีการเติบโตมาก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา บริษัทจึงเริ่มศึกษาและเริ่มเข้าเป็นผู้เล่นในตลาดกัญชงอย่างเป็นทางการ หลังประเทศไทยปลดล็อกพืชกัญชงและกัญชาจากบัญชียาเสพติด และอนุญาตให้ใช้ในกลุ่มน็อนเมดิคอลได้ อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ส่งผลให้ภาคธุรกิจให้ประเทศขานรับเทรนด์ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มี CBD ออกมาจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดกัญชงในประเทศไทยขยายตัว และมีมูลค่าสูงถึง 600 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท

นายกฤษณ์ย้ำว่า บริษัทมีนโยบายที่จะรุกตลาดกัญชงแบบครบวงจร เริ่มการลงทุนจากธุรกิจต้นน้ำ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ทำการวิจัยและเพาะพันธุ์กัญชงจนได้สายพันธุ์ของตนเอง มีชื่อว่า Raksa (รักษา) เป็นแม่พันธุ์กัญชงพิเศษ เหมาะกับสภาพอากาศในไทย โดยกัญชงพันธุ์นี้จะมีสาร CBD เฉลี่ยสูงถึง 18%

ขณะที่ปริมาณ THC ต่ำกว่า 1% โดยปลูกในอาคารโรงเรือนขนาด 1,500 ตร.ม. ที่อำเภอแม่กรณ์ จังหวัดเชียงราย สามารถปลูกและสกัดดอกกัญชงได้ถึง 1,080 กิโลกรัม/ปี หรือสามารถให้สารสกัด CBD ได้มากถึง 75 ล้านมิลลิกรัม ด้วยมาตรฐาน GHP (Good Hygiene Practice) อยู่ภายใต้ HACCP (Hazards Analysis and Critical Control Points) และ ISO

นอกจากนี้ จากลักษณะการผลิตสารสกัดกัญชงแบบ high-value agriculture หรือ farm factory ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชงได้ในทุก ๆ เดือน และเป็นโรงปลูกกัญชงแห่งแรกในเอเชียที่ใช้ระบบการทำฟาร์มแนวตั้ง (vertical farming) อีกทั้งยังเป็นการปลูก indoor ที่เก็บเกี่ยวได้มากถึง 4-5 รอบต่อปี จากปกติหากปลูกแบบ outdoor และ greenhouse จะเก็บเกี่ยวได้เพียง 1-3 รอบ/ปี

สำหรับผลผลิตกัญชงลอตแรก ตลอดจนสินค้าที่ได้ร่วมกับพันธมิตร จะเริ่มออกสู่ตลาดภายในไตรมาส 4 นี้ เช่น Panpuri ที่นำไปทำทำสปา-เครื่องหอม, Chanabis (เครื่องดื่ม) และ Hemp ice cream (ไอศกรีม) เป็นต้น และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิต ผ่านการสร้างโรงเรือนขนาด 3,000 ตารางเมตร ในเขตกรุงเทพฯเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตกัญชงได้อีกราว 1 ตัน/ปี ควบคู่กับการสร้างโรงสกัดสาร CBD ที่สามารถสกัดดอกช่อสดได้ทันที โดยไม่ต้องนำไปตากแห้ง เพื่อช่วยลดต้นทุนและปัญหาเชื้อรา

พร้อมกันนี้ บริษัทยังเตรียมจับมือกับพันธมิตรที่เป็นธุรกิจกลางน้ำ เพื่อมุ่งเน้นเกี่ยวกับการสกัดรีดสารแคนนาบินอยด์ให้ได้สูงถึง 85% ตลอดจนการสกัดกัญชงในรูปแบบฟูลสเปกตรัม ที่ให้สาร CBD คุณภาพสูงดูดซึมได้ดีกว่า และมีราคาขายสูงกว่า สำหรับการต่อยอดไปสู่การส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัทได้เริ่มมีการเจรจาและปิดดีลกับพันธมิตรในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เกี่ยวกับการรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนและเตรียมจะเปิดบริการการออกแบบ วางระบบการปลูกกัญชงสายพันธุ์ Raksa และมีแผนจะทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งภายในปี 2566 โดยบริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจรับจ้างผลิตที่คาดว่าจะมีความต้องการมากขึ้น รวมถึงมีแผนจะเดินหน้าพัฒนาและผลิตสายพันธุ์กัญชงใหม่ ๆ การลงทุนเพื่อเปิดโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชงสำหรับส่งขายในต่างประเทศ ภายในปี 2568-2569

“ด้วยคุณภาพและความได้เปรียบด้านราคา บริษัทมั่นใจว่ากัญชงไทยสามารถสู้ได้ในตลาดโลก และตลาดต่างประเทศก็พร้อมเปิดรับสินค้าไทย ขณะนี้เราได้จับมือกับธุรกิจโรงแรม นำกัญชงไปผลิตเป็นสินค้า เช่น แชมพู เพื่อสร้างกิมมิกเวลาชาวต่างชาติมาไทย หรือการทำน้ำมันนวดไทยกัญชง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ โดยบริษัทตั้งเป้าเป็นไบโอเทคยูนิคอร์น จากมีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาทในอนาคต” นายกฤษณ์กล่าว