ซีไอจัดทัพรับตลาดเปลี่ยน โยก “คอนเสิร์ตใหญ่” ข้ามปี

โควิดกระทบธุรกิจอีเวนต์คอนเสิร์ตซบหนัก “ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์” ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลีนองค์กร เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจ ดึงลูกค้าหน่วยงานรัฐ-เอกชน พร้อมเพิ่มน้ำหนักธุรกิจอีเวนต์รับจ้างผลิต-โอว์นโปรเจ็กต์ ลุยจัดคอนเสิร์ตต้นปี’65 รอจังหวะดึงศิลปินต่างประเทศเสริมทัพ

นายญาณกร อภิราชกมล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด หรือซีไอ (CI) ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์เอาต์ดอร์เฟสติวัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ตจากมูลค่าตลาด 2.3 แสนล้านบาท รายได้และแนวโน้มการเติบโตเท่ากับศูนย์ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และต้องจัดงานภายใต้มาตรการ new normal โดยการจัดงานปีที่ผ่านมาทำได้ไม่ถึง 50%

อีกด้านหนึ่งผู้จัดหลาย ๆ ค่ายยังกังวลเรื่องแพร่ระบาดรอบใหม่ ยิ่งปีนี้ถือว่าหนักกว่าปีที่ผ่านมา เพราะบริบทสถานที่จัดงานในแต่ละพื้นที่มีความต่างกัน จะเห็นว่าในพาร์ตคอนเสิร์ตไม่มีใครได้จัดงาน และบางงานเลื่อนงานออกไปจัดช่วงต้นปี 2565

ขณะเดียวกันยังมีบางงานเตรียมจัดช่วงปลายปี แต่ลักษณะการจัดงานยังมีความยาก เพราะสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งในเดือนธันวาคมอาจเห็นภาพของเจ้าของสถานที่เตรียมจัดงานอยู่บ้าง เช่น งานเคานต์ดาวน์ งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ แต่ในส่วนของผู้จัดคอนเสิร์ต

ขณะนี้ยังไม่กล้าตัดสินใจ เพราะต้องแบกรับต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการประสานภาครัฐ เอกชน และสปอนเซอร์ ดังนั้นจะเริ่มเห็นงานอีเวนต์และคอนเสิร์ตเริ่มกลับมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 เป็นต้นไป เพราะผู้จัดทุกค่ายได้ประเมินเรื่องไทมิ่งและคาดการณ์ว่าภาครัฐจะทยอยผ่อนปรนทีละสเต็ป

เช่นเดียวกับที่ผ่านมา บริษัทก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนรายได้จากหน่วยธุรกิจอีเวนต์คอนเสิร์ตเป็นศูนย์ จึงหันมาโฟกัสธุรกิจรับจ้างจัดงาน ในรูปแบบการทำคอนเทนต์และแคมเปญ ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อนำรายได้เข้ามาพยุงธุรกิจ แน่นอนว่าโควิดทำให้วางแผนการทำงานลำบาก สำหรับบริษัทเองได้ประเดิมจัดงาน Season of Love Song ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อปี’63 ภายใต้มาตรการรัฐ ทั้งการเว้นระยะห่าง

รวมถึงการจำหน่ายบัตรที่ต้องจำกัดผู้คน แม้จะผ่านไปด้วยดี แต่อีกด้านหนึ่งค่อนข้างกดดันและลำบาก เพราะต้องประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่นับรวมกับการจัดคอนเสิร์ตผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งประเมินแล้วว่าเม็ดเงินค่อนข้างน้อยและทดแทนกันไม่ได้ 100%

อีกทั้งยังต้องพับแผนโปรเจ็กต์การจัดคอนเสิร์ตที่จะดึงศิลปินจากต่างประเทศ 2 คน โดยได้เซ็นสัญญาไปเรียบร้อย แต่เมื่อโควิดยังไม่คลี่คลายจึงต้องชะลอไปก่อน ทำให้เงินลงทุนจมไปกับงานนี้ ทำให้ต้องทำเรื่องยกเลิกสัญญา แต่ใช้เวลานานพอสมควร ขณะนี้ได้ทำเรื่องขอคืนสัญญาไป 1 โปรเจ็กต์ ส่วนอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ยังถือสัญญาอยู่ โดยประเมินว่าขณะนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดและมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ประเมินว่ากลางปีหน้าจะเริ่มเห็นคอนเสิร์ตต่างประเทศทยอยเข้ามา

นายญาณกรกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานปี 2565 บริษัทยังให้ความสำคัญกับธุรกิจ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย อีเวนต์คอนเสิร์ต ตามด้วยรับจ้างผลิตดิจิทัล และมาร์เก็ตติ้ง ปัจจุบันได้ลีนองค์กรไปค่อนข้างมาก และล่าสุดเพิ่งขายเว็บไซต์คอนเทนต์ “The People” ให้กับเครือเนชั่นไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มมีเดียที่อยู่ภายใต้การบริหารของครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์

ต่อจากนี้จะโฟกัสไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อนำไปเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจด้านต่าง ๆ เพื่อขายข้อมูลให้แก่ผู้สนใจ ซึ่งฐานลูกค้าหลักปัจจุบันคือ หน่วยงานรัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ให้แก่ธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเดินหน้าให้ความสำคัญกับธุรกิจ CIO-operation ดูแลอีเวนต์ทั้งรับจ้างผลิต และโอว์นโปรเจ็กต์ (own-project) ปีนี้น่าจะมี 2 งานใหญ่ที่เลื่อนมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คือ Season of Love Song ปีที่ 12 เตรียมจัดขึ้นช่วงเดือน ก.พ. 65 ต่อด้วยงาน Singing in the Rain ช่วงกลางปี และงาน Season of Love Song ปีที่ 13 ในปลายปี สำหรับงานโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ มีรอไว้อยู่จำนวนมาก แต่ต้องรอประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมถึงสปอนเซอร์จะลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะงานใหม่มีความเสี่ยงมากกว่างานเดิมที่ค้างไว้อยู่แล้ว

โดยขณะนี้ผู้จัดหลายคนยังกังวลเรื่องโควิด แต่รองลงมาเป็นเรื่องการทำธุรกิจยุคหลังโควิด เพราะบริบทเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้พฤติกรรมการอยากดูคอนเสิร์ตยังคงอยู่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องกำลังซื้อ คนดูมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ทำให้ต้องลดความถี่ในการดูคอนเสิร์ต หรือเลือกดูเฉพาะงาน พอจำนวนคนดูลดลงก็มีผลต่อฐานสปอนเซอร์ที่ใช้เม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนคอนเสิร์ต

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีรายได้มาจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายเดียวกับคนที่มาดูคอนเสิร์ต จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญ ผู้จัดต้องหากลยุทธ์ดึงลูกค้าเข้างาน ซึ่งวันนี้รายใหญ่อาจปรับตัวช้ากว่ารายเล็ก ๆ เพราะการจัดงานรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป แต่ผู้จัดรายใหม่ ๆ อาจมีรูปแบบการจัดงานในสเกลใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม