ร้านอาหาร (ยัง) ป่วนหนัก วัตถุดิบแพง-อุปกรณ์ขาดฉุดกำไรหด

ร้านอาหาร
market move

 

ช่วงโค้งท้ายของปี 2564 นี้ ธุรกิจร้านอาหารทั้งในฝั่งเอเชียและสหรัฐอเมริกายังคงเผชิญอุปสรรคต่อเนื่อง ล่าสุดราคาต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ เครื่องปรุง และเนื้อสัตว์ต่างปรับตัวขึ้น ในขณะที่อุปกรณ์จำเป็นอย่างแก้วและกล่องใส่อาหาร กลับขาดแคลน จนทำให้การทำกำไรในช่วงหน้าขายท้ายปีกลายเป็นความท้าทาย

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานสถานการณ์ สาเหตุ และผลกระทบต่อวงการธุรกิจร้านอาหารว่า นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ราคาวัตถุดิบอาหารในจีนและญี่ปุ่น ต่างปรับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในจีนราคาวัตถุดิบพื้นฐานอย่างซอสปรุงรส น้ำส้มสายชู น้ำมันงา ถั่วต่างพุ่งขึ้นในระดับ 5-18% ส่วนในญี่ปุ่นราคาเนื้อวัวนำเข้าจากสหรัฐที่ปกติเป็นสินค้าราคาประหยัดเมื่อเทียบกับเนื้อวากิวกลับแพงขึ้นเช่นเดียวกัน

โดย เจียงซู เฮียงชุน บริษัทผู้ผลิตน้ำส้มสายชูและเครื่องปรุงรสรายใหญ่ของจีน เปิดเผยว่า จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าบางรายการขึ้นในระดับตั้งแต่ 5-15% ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งพุ่งสูงขึ้นจนไม่สามารถคงราคาขายเดิมไว้ได้

ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารในจีนอีกอย่างน้อย 3 ราย ต่างออกมาประกาศปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงสัปดาห์เดียวกัน อาทิ ไฮซิน ฟู้ด บริษัทผู้ผลิตอาหารสด และฟูเจียน อันจอยฟู้ดผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ซึ่งนอกจากขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่ 3-10% แล้ว ยังลดส่วนลดเมื่อทำโปรโมชั่นลงอีกด้วย เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายในหลายพื้นที่

ไปในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งราคาเนื้อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นจนทำสถิติแพงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง เนื่องจากในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารในหลายประเทศเริ่มเปิดบริการ แต่อุตสาหกรรมเนื้อในสหรัฐอเมริกาซึ่งใหญ่ติดท็อป 3 ของผู้ส่งออกเนื้อทั่วโลกกลับยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาโรคระบาดและการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ซัพพลายขาดแคลนอย่างหนักจนราคาพุ่งขึ้น และกระทบต่อรายได้ของร้านอาหารในญี่ปุ่น

“ฮิโรมิจิ อากิบะ” ประธานของอะกิได เชนซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงโตเกียว ฉายภาพว่า ตอนนี้ผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันกับผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีนและเกาหลีใต้ที่ต่างมีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐได้ ทำให้ต้องยอมจ่ายค่าสินค้าในราคาสูงกว่า บริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคาเนื้อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาอีก 20-30% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบแล้ว ธุรกิจร้านอาหารมีกำไรลดลงตามไปด้วย “โนบุโอะ โคบายาชิ” หุ้นส่วนของเชนร้านอาหารอีซี เจแปน กล่าวว่า แม้ร้านอาหารจะปรับตัวไปเน้นขายเมนูเนื้อสัตว์ชนิดอื่น แต่ดีมานด์ที่สูงขึ้นกะทันหันก็จะทำให้ราคาเนื้อชนิดนั้น ๆ แพงตามไปด้วยเช่นกัน

ด้านสหรัฐอเมริกานั้นกำลังเผชิญปัญหาที่แตกต่างออกไป โดยแม้จะมีวัตถุดิบอาหารเพียงพอ แต่อุปกรณ์สำหรับใส่อาหารให้ลูกค้าอย่างแก้วกระดาษ-พลาสติก หลอดดูดน้ำและกล่องใส่อาหาร กลับขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากแม้หลายรัฐจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคแล้ว แต่ยอดสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้านยังสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดถึง 20% ตรงข้ามกับโรงงานและผู้นำเข้าที่ต้องเจอปัญหาการขนส่งล่าช้า

“เดวิด เพอคอรี” ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัทอิมพีเรียลเดล หนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรายใหญ่ ระบุว่า ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการคลายล็อกดาวน์ ผสมกับปัญหาการขนส่ง ทำให้ผู้ผลิตและนำเข้าปรับตัวตามไม่ทัน ในระดับที่ลูกค้าหลายรายยอมจ่ายแบบไม่เกี่ยงราคา เพื่อให้ได้สินค้ามาใช้งาน


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงความท้าทายในธุรกิจร้านอาหารที่แม้หลายประเทศจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ยังต้องวิ่งวุ่นหาทางรับมือโจทย์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้ตัวเลขผลประกอบการปีนี้ไม่สวยงามอย่างที่หวังไว้