โรงพยาบาลเอกชนกางแผนฝ่าโควิด เดินหน้าลงทุนบุกตลาดใหม่

รพ.สมิติเวช2

รพ.เอกชนกางแผนลงทุนรับเน็กต์นอร์มอล เพิ่มน้ำหนักดิจิทัลเฮลท์ “สมิติเวช-บีเอ็นเอช” เบนเข็มลุยบิสซิเนส ทัวริสซึ่ม “เครือพริ้นซ์” เร่งขยายเครือข่ายเจาะเมืองรอง อีสาน-ใต้ จับมือโรงแรมเปิดบริการตรวจโควิดรับเปิดประเทศ ส่วน “เอกชัย” ลงทุนเปิด รพ.เฉพาะทางรับสังคมสูงวัย

สถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น ด้วยแรงหนุนการปูพรมฉีดวัคซีนที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัญญาณบวกจากการเปิดประเทศ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเร่งพลิกกลยุทธ์เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคเน็กต์นอร์มอล เพื่อให้สอดรับกับวิถีใหม่ของผู้บริโภค โดยเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผ่านการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ท่ามกลางความท้าทายของการแข่งขันที่ยังดุเดือด

สมิติเวช-บีเอ็นเอชจับลูกค้าใหม่

นพ.สุรพงษ์ ลูกหนุมารเจ้า ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและบีเอ็นเอช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นเมดิคอลฮับที่กลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศไว้วางใจเข้ามารักษาพยาบาล แต่เมื่อเกิดโควิดขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าต่างประเทศหายไป

อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณบวกที่เริ่มมีกลับมาอีกครั้ง จากการประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกลุ่มลูกค้าต่างประเทศทั้งคนไข้เก่าและคนไข้ใหม่ เริ่มติดต่อเข้ามาอีกครั้ง โดยที่ผ่านมาในช่วงโควิดแพร่ระบาด กลุ่ม รพ.สมิติเวชและบีเอ็นเอช (ในเครือบีดีเอ็มเอส)

ได้ปรับตัวไปสู่ความเป็นดิจิทัลเฮลท์มากขึ้น ด้วยการขยายช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการทำ virtual hospital เปิดบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านออนไลน์แบบเรียลไทม์ ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาดิจิทัลเฮลท์เติบโตมากกว่า 200% คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 15%

สำหรับกลยุทธ์เครือ รพ.สมิติเวช และบีเอ็นเอช จากนี้ไปจะเน้นการปรับตัวด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่ม business tourism มากขึ้น จากเดิมที่จับกลุ่ม medical tourism จากยุโรป อเมริกา เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากยุโรปและอเมริกาที่ยังกลับมาไม่มากนัก ทำให้ต้องหันมามองกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาปักหลักอยู่ไทย หรือย้ายฐานบริษัทมาที่ไทยมากขึ้น เช่น จีน เป็นต้น หรือกระทั่งการทำงานในรูปของ work anywhere ของคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ ในแง่การส่งเสริมสุขภาพ หรือบริการที่เน้นการสร้างภูมิต้านทาน

“นอกจากนี้ สมิติเวชและบีเอ็นเอชยังเน้นการเพิ่มโฟกัสในบริการการส่งเสริมสุขภาพ ชูแนวคิดทำให้คนไม่ป่วย รวมทั้งการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ รพ.ไปต่อได้ แม้จะยังมีโควิดอยู่”

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจัยจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก สะท้อนจากภาพผู้บริโภคที่ลดการมา รพ.จากความกังวลเรื่องการติดเชื้อ ทำให้ รพ.ต้องปรับตัวกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้าใช้มากขึ้น อาทิ เทเลเมดิซีน เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมตามมาด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น ในระยะต่อไปจะเห็นภาพของธุรกิจ รพ.ที่มีการลงทุนขยายเครือข่ายในรูปแบบ M&A แต่เป็นใน รพ.ขนาดเล็กมา collab หรือทำงานร่วมกันในหลายด้านมากขึ้น ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การทำตลาด เช่น กรณีของการจองวัคซีน เป็นต้น หรือกระทั่งแชร์รีซอร์ซิ่ง เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พริ้นซ์ฯ เจาะเมืองรอง

นายธานี มณีนุตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ กล่าวว่า ปัจจัยโควิดเป็นตัวเร่งให้บริษัทมีแผนการกระจายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขให้ครอบคลุมในจังหวัดเมืองรองเพิ่มมากขึ้น ผ่านการลงทุนตามยุทธศาสตร์ 3-5 ปี เพื่อขยายเครือข่าย รพ. ในจังหวัดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง

โดยในปี 2565 มีแผนเปิด รพ.เพิ่มอีก 2-3 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 12 แห่ง และตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 20 แห่ง ภายในปี 2566 เน้นไปที่ภาคอีสานและภาคใต้ ที่ตลาดยังมีช่องว่างและมีโอกาสที่จะเติบโตได้มาก รวมทั้งการมุ่งเน้นขยายโมเดลคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นเครือข่ายบัตรทอง เจาะย่านชุมชนให้ครบ 100 แห่ง ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปัจจุบันมีราว 11 แห่งใน กทม.) โฟกัสพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ร่วมกับการเปิดโรงพยาบาลขนาดเล็ก 10-30 เตียง (minihospital)

ขณะเดียวกันได้เร่งเสริมบริการใหม่ ๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการขยายการเปิดคลินิกฟื้นฟูหลังโควิด (Post COVID-19 Clinic) รองรับกลุ่มผู้มีอาการเรื้อรังหลังหายป่วยโควิด ผ่าน รพ.ในเครือ เช่น รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, พิษณุเวช, พริ้นซ์ ปากน้ำโพ, รพ.วิรัชศิลป์ เป็นต้น

ตลอดจนการจับมือกับพันธมิตรโรงแรมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาจาก 63 ประเทศ ที่ต้องเดินทางมาพักกับโรงแรมที่เป็นคู่สัญญากับทางโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อรอผลตรวจ RT-PCR โดยปัจจุบันร่วมกับโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต, โรงแรมแมริออท เอ็กเซกคิวทีฟ อพาร์ทเมนท์ สาทร วิสต้า และโรงแรมชั้นนำอีกหลายแห่งในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์แพทย์ทางเลือกสมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร, กระชาย ฯลฯ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยสินค้าและเวชภัณฑ์ด้านสมุนไพรไทยเพิ่มเติมในอนาคต

รพ.แตกไลน์ธุรกิจเสริมแกร่ง

นายสุทธิพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์ กรรมการและผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน (CFO) บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชัยระบุว่า ปี 2565 จะเป็นปีแห่งความท้าทายของ รพ.เอกชน ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์การก้าวสู่สังคมสูงวัยและสร้างการเติบโตในอนาคต รพ.เอกชัยจะมีการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ขนาด 30 เตียง ภายใต้งบประมาณ 110 ล้านบาท เพื่อให้บริการรักษาผู้สูงอายุครบวงจร ทั้งโรงพยาบาล, เนิร์สซิ่งโฮม และเดย์แคร์ ไปเช้า-เย็นกลับ

คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายนปี 2565 รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น การลงทุน 165 ล้านบาท เพื่อถือหุ้นในธุรกิจความงาม บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 10%

ขณะที่ ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH ผู้บริหาร รพ.อินเตอร์เมด และ รพ.ประชาพัฒน์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า บริษัทได้เตรียมปรับโครงสร้างภายใน และเล็งขยายเครือข่าย รพ.ประชาพัฒน์ ผ่านการเข้าเทกโอเวอร์ รพ.ขนาด 100-300 เตียง ภายใต้งบฯลงทุน 300-500 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ

รวมทั้งมีแผนจะผลักดัน รพ.ประชาพัฒน์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2565 โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าบัตรทอง ประกันสังคม และเงินสด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รพ.บำรุงราษฎร์ เป็นอีก รพ.หนึ่งที่ลงทุนเปิดคลินิก Bumrungrad COVID-19 Recovery Clinic สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด การฟื้นฟูอาการ long COVID-post COVID รวมไปถึงบริการ now normal COVID solution โดยมีทั้ง travel clinic ให้คำปรึกษากรณีที่ต้องการไปศึกษาต่อ ไปทำงาน หรือเดินทางท่องเที่ยว

พร้อมออกหนังสือรับรอง วัคซีนพาสปอร์ต ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาความเจ็บป่วยต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ รวมถึงข้อควรปฏิบัติของประเทศปลายทาง (fit to fly) รวมไปถึงกรณีเกิดปัญหาการเจ็บป่วยในต่างประเทศ สามารถขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นผ่านระบบเทเลเมดิซีน ตามกลยุทธ์เฮลท์พาร์ตเนอร์ชิป