เวิลด์เมดิคอลปั้นฮับสมุนไพร บูมท่องเที่ยว ชูกรีนเมดิคอลตีตลาดโลก

กัญชา

เวิลด์เมดิคอลฯจับมือ สธ.-ททท.-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-ทีเส็บ ปักหมุดแม็กเนตใหม่ “ฮับสมุนไพร-กัญชา” ปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำแพ็กเกจท่องเที่ยวเฉพาะบุคคล ดูดท่องเที่ยวดีดกลับ ก่อนต่อยอดดันยุทธศาสตร์ green medicine ส่งออกสารสกัดธรรมชาติ ยารักษาไร้เคมี เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างไทยเดสติเนชั่นเมดิคอลฮับโลก

นางศิริญา เทพเจริญ ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) โดยในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ไทยเป็นตลาดเมดิคอลทัวริซึ่ม (medical tourism) ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีเงินสะพัดถึง 630 ล้านดอลลาห์สหรัฐ แต่ผลจากการแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ (2563-2564) ทำให้ธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งต้องสะดุดไป

อย่างไรก็ดี เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเมดิคอลฮับของประเทศไทยต่อไปหลังเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นทางการช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เวิลด์เมดิคอลฯได้ร่วมกับบริษัท CISW กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) เพื่อสร้างกิมมิกการเปิดประเทศให้ไทยเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและศูนย์การแพทย์โลก ผ่านการนำจุดเด่นด้านกัญชา-กัญชง ผนวกกับการเป็นเมืองสมุนไพร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง

ศิริญา เทพเจริญ
ศิริญา เทพเจริญ

เฟสแรกเวิลด์เมดิคอลฯจะลงทุนทำแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้ชื่อ “Experience Health and Wellness Tourism” ขึ้น เพื่อทำยุทธศาสตร์การเคลื่อนเข้าหากลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ และปรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าสู่ความเป็น tech tourism ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยภายในแพลตฟอร์ม ดังกล่าว จะให้บริการออกแบบแพ็กเกจการท่องเที่ยวเฉพาะบุคคลแบบเอ็กซ์คลูซีฟ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ตลอดจนการท่องเที่ยวแบบหรูหรา (luxury travel) ซึ่งหน้าที่เวิลด์เมดิคอลฯ คือการทำการตลาดผ่านเอเยนซี่ทั่วโลก โดยมี ททท.ช่วยในเรื่องการโปรโมต ส่วน สธ.จะมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจกรรมเรื่องสุขภาพหรือเวลเนสทั้งหมด

“เบื้องต้นได้ดีลกับท้องถิ่นชุมชนทั่วประเทศ ดึงกิมมิกมาสร้างแคแร็กเตอร์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ โดยจะเริ่มคิกออฟครั้งแรกในวันที่ 12 ธันวาคมนี้”

นางศิริญากล่าวว่า ขณะเดียวกันยังเดินหน้าส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็น green medicine หรือการงดใช้สารเคมีในการรักษา และใช้สารสำคัญจากธรรมชาติแทน โดยจะผลักดันการปลูกกัญชา กัญชง และสมุนไพรไทยอื่น ๆ อาทิ ขมิ้นชัน กะเพรา ฟ้าทะลายโจร นำมาสกัดสารสำคัญในเกรดทางการแพทย์ และผลักดันนวัตกรรมการรักษาผ่านสมุนไพรไทย เพื่อสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการส่งออกสมุนไพรรูปแบบ green medicine ไปยังต่างประเทศ

โดยบริษัทได้หารือกับ 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ในการส่งสารสำคัญสมุนไพรไทยรูปแบบ green medicine ออกไป ซึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ลงนามข้อตกลงกับนายเคนอิจิโร โมฮาระ กรรมการบริหาร บริษัท ซันโย เทรดดิ้ง เอเชีย จำกัด เพื่อส่งสารสกัดสำคัญจากกัญชา กัญชง ไปที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถส่งได้ 1 ตัน ในไตรมาส 1 ปี 2565 พร้อมกันนี้ บริษัทยังจะจับมือกับเกษตรกรทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ปลูกกัญชา กัญชง และสมุนไพรอื่น ๆ ให้ ส่วนบริษัทจะมีหน้าที่ในการหาตลาดเพื่อส่งขายต่อไป

สำหรับในระยะถัดไปจะต่อยอดจากการสกัดสารสำคัญของกัญชา กัญชง และสมุนไพร สู่การทำนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น ยาแก้ปวด จากสมุนไพรไร้สารเคมี เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าสินค้า green medicine ของไทยให้สูงขึ้น โดยคาดหวังว่าในอนาคตต่างประเทศจะเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาทำ OEM ในไทยมากขึ้น นำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตตามมา

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่การเกิดโควิด มีการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ นำไปสู่การใช้ green medicine หรือยาสมุนไพร โดยประเทศไทยมีจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับ 8 ของโลก สิ่งที่ สธ.จะทำคือการผลักดันการรักษาโรคด้วยสมุนไพรไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกัญชา กัญชง กระท่อม เพื่อส่งเสริมให้ขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจซึ่งต้องทำร่วมกัน


ตลอดจนต้องทำนวัตกรรมเกษตรกรรม เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ ให้นักท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทย สมุนไพรไทย