ญี่ปุ่นชนเกาหลีส่งนวัตกรรมใหม่ปลุกตลาดทีวี

เปิดศึกชิงตลาดทีวีรอบใหม่ ค่ายเกาหลี-ญี่ปุ่น จัดทัพใหญ่ส่งนวัตกรรมโอแอลอีดี-คิวแอลอีดีปลุกกำลังซื้อ หวังเป็นไฮไลต์ดันตลาด 2.8 หมื่นล้านเดินหน้าต่อ หลัง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดซึมหนัก เตรียมวางสินค้าเต็มเชลฟ์สร้างสีสันพร้อมโปรโมชั่น-เซอร์วิสกระตุกเงินลูกค้าพรีเมี่ยม

ปีนี้ตลาดทีวีกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหลังตลาดหดตัวต่อเนื่องในช่วงปี 2558-2559 ที่ผ่านมา ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่แบรนด์เกาหลีและญี่ปุ่นต่างทยอยเปิดตัวเข้ามาช่วงชิงตลาด ฝั่งหนึ่งเป็น คิวแอลอีดีŽ (QLED) ไม้เด็ดของซัมซุง ส่วนอีกฝ่ายคือ โอแอลอีดีŽ (OLED) ซึ่งประกอบด้วย แอลจี, โซนี่, พานาโซนิค โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยให้ทีวีมีภาพคมชัดและสีสันสดใสกว่าแอลอีดีทีวีและแอลซีดีทีวีปกติ รวมถึงส่งกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

ไซซ์ 45-85 นิ้วดันตลาดโตพุ่ง

นายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่ อาวุโสบริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า พาวเวอร์ มอลล์Ž กล่าวว่า ทีวีจะเป็นไฮไลต์ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่ด้านความคมชัด อาทิ คิวแอลอีดี (QLED) และโอแอลอีดี (OLED) มากระตุ้นการรับรู้ ในช่วงที่ผู้บริโภคต้องการทีวีจอใหญ่และคมชัดมากขึ้นเพื่อชมคอนเทนต์ความละเอียดสูงจากอินเทอร์เน็ตและบริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ เห็นได้จากในขณะที่ตลาดทีวีรวมมูลค่า 26,000 ล้านบาทหดตัว 4% เนื่องจากยอดขายทีวีขนาดเล็กกว่า 45 นิ้วลดลงเพราะผู้บริโภคหันไปใช้แท็บเลตแทน แต่ยอดขายทีวีจอใหญ่ขนาด 45-85 นิ้วช่วง 5 เดือนแรกโตถึง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีฟังก์ชั่นเสริมทั้งความคมชัด 4K และ UHD ซึ่งมีโอกาสเติบโตถึง 70% รวมถึงสมาร์ททีวีที่คาดว่าจะโต 30% ในปีนี้เชื่อว่าครึ่งปีหลังแต่ละแบรนด์จะอัดสินค้าใหม่และโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาด-ชิงกำลังซื้อจากผู้บริโภคหนุนให้ตลาดเติบโตจนมีมูลค่าประมาณ 28,000-29,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2558

จุดพลุหลังตลาดหด 2 ปีซ้อน

สอดคล้องกับทิศทาง โซนี่Ž นายเท็ทซูทากะ ซูดะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดทีวีหดตัวในแง่เม็ดเงินต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และ 2559 ในระดับ 2% และ 7% ตามลำดับ แต่ปีนี้คาดว่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5% จากกลุ่มจอใหญ่และความคมชัด 4K-UHD จากกระแสคอนเทนต์ความคมชัดสูงและความสนใจที่นวัตกรรมโอแอลอีดีสร้างขึ้น

โดยบริษัทได้เปิดตัว บราเวียร์ โอแอลอีดีทีวี รุ่น A1 series ขนาด 65 นิ้ว และ 55 นิ้ว ราคา 1.19 แสน และ 2.29 แสนบาท มีจุดขายเป็นระบบประมวลผลภาพที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะและนวัตกรรมใช้จอภาพแทนลำโพง พร้อมโปรโมชั่นแถมเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 4 โปร และเกมแครชแบนดิคูตสำหรับผู้ที่จองภายในวันที่ 13 สิงหาคม 2560 นอกจากนี้ยังได้เพิ่มไลน์อัพทีวี 4K ระดับพรีเมี่ยมจาก 4 เป็น 8 รุ่นและระดับเริ่มต้นจาก 6 เป็น 10 รุ่น ตามเทรนด์ทีวีจอใหญ่และความคมชัดสูง

โปรแรง-เซอร์วิสพรีเมี่ยม

นายนิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า ผู้บริโภคเริ่มรู้จักโอแอลอีดีทีวีมากขึ้น ทำให้เซ็กเมนต์นี้เติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้เปิดตัวโอแอลอีดีทีวีระดับเรือธงรุ่น G7T ขนาด 65,77 นิ้ว ราคา 2.9-5.9 แสนบาท ตามด้วยรุ่นรอง C7T, E7T ราคา 9.9 หมื่น 2.49 แสนบาทพร้อมกับโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจมูลค่า 3 แสนบาท รวมถึงกิจกรรมหน้าร้าน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากแอลจีวี-พริวิเลจ เช่น เข้าตรวจซ่อมภายใน 6 ชั่วโมง เครื่องสำรองระหว่างซ่อม ฯลฯ

ด้านนายโยสุเกะ อิชิกาวะ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน และพัฒนากลยุทธ์ บริษัท พานาโซนิค ซิวเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า โอแอลอีดีรุ่นนี้มีจุดขายทั้งภาพที่เน้นสีสันสมจริงจากระบบประมวลผลลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท และซาวนด์บาร์บิวต์อินพร้อมลำโพง 14 ตัว ขณะเดียวกันยังจัดโปรโมชั่นสำหรับผู้ที่จองรุ่น TH-65EZ1000T แถมตั๋วเครื่องบินไป-กลับญี่ปุ่นจำนวน 2 ที่นั่งและเครื่องเล่นบลูเรย์ มูลค่า 13,990 บาท รวมถึงสิทธิ์ผ่อน 0% สูงสุด 15 เดือนถึงสิ้นกันยายนนี้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ย้ำความคุ้มค่าและกระตุ้นการตัดสินใจ

แก้ปมตลาดอิ่มตัว

นายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่าคิวแอลอีดีทีวีŽ จะช่วยแก้ปัญหาทีวีที่ใกล้อิ่มตัว โดยสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อจูงใจให้เกิดการอัพเกรด โดยปีนี้สร้างกระแสรับรู้ด้วยสินค้าเรือธง คิวแอลอีดีซีรีส์ 7, 8 และ 9 ราคา 1 แสน-6 แสนบาทชูจุดเด่นด้านภาพ นวัตกรรมซ่อนสายไฟ-สายสัญญาณและบริการเอ็กซ์คลูซีฟต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าระดับบนไฮเอนด์ที่ต้องการคุณภาพและฟังก์ชั่นสูงขึ้น รวมถึงย้ำความเชื่อมั่นด้วยประกัน 3 ปี พร้อมสร้างความเข้าใจในจุดขายด้วยการสื่อสารผ่านออนไลน์และการทดลองใช้ที่ร้านค้า ซึ่งปรับพื้นที่ใหม่กว่า 200 แห่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่ทยอยเปิดตัวโอแอลอีดีทีวีในปีนี้ อาทิ โตชิบาŽ ชูจุดขายเรื่องราคาต่ำกว่าคู่แข่งที่ประมาณ1.7 แสนบาท เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางเช่นเดียวกับ ฟูไนŽ (Funai) แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นอีกรายซึ่งเตรียมวางขาย โอแอลอีดีทีวีรุ่นแรกของตนในญี่ปุ่นช่วงต้นปี 2561 หวังรับดีมานด์ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามกระแสโตเกียวโอลิมปิก ส่วน ชาร์ปŽ ได้ลงทุน 5.74 หมื่นล้านเยนตั้งสายการผลิตจอโอแอลอีดี 2 แห่งที่โรงงานในจังหวัดโอซากาและจังหวัดมิเอะ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องจักรได้ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ปี 2561