“เถ้าแก่น้อย” โหมบุกไทย-เทศ ระดมสแน็กพรีเมี่ยมปั๊มยอด

เถ้าแก่น้อย

“เถ้าแก่น้อย” เผยผลประกอบการ Q3/64 ทำรายได้ 830.7 ล้าน กำไรสุทธิ 19.3 ล้าน มองผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เร่งเครื่องบุกตลาดรอบใหม่ ปรับโครงสร้างต้นทุนรับมือปัจจัยเสี่ยง เผยกลยุทธ์ปี’65 เดินหน้าขยายไลน์โปรดักต์สุขภาพ-พรีเมี่ยม อัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านเทรดิชั่นนอลเทรด อีคอมเมิร์ช ด้านตลาดต่างประเทศออร์เดอร์จากจีนดีดกลับ

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าเถ้าแก่น้อย กล่าวในงาน Opportunity Day จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายติดลบจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง

อีกทั้งต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้านจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งและค่าขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้บริษัทต้องปรับแผนการดำเนินงานระยะสั้น หันมาเน้นกลยุทธ์ lean fat พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายภายใน ลดต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสมเพื่อให้กระทบต่อภาพรวมบริษัทน้อยสุด ทั้งนี้ ทางด้านคุณภาพสินค้าต้องไม่ลดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานปี 2565 บริษัทยังคงให้ความสำคัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีแผนเตรียมเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม nonseaweed มากขึ้น ประกอบด้วย ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากพืช ตามด้วยขนมขบเคี้ยวพรีเมี่ยม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักอย่างขนมขบเคี้ยวสาหร่ายประเภทอบและประเภททอด ได้เร่งขยายช่องทางขายในตลาดร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (traditional trade) และช่องทาง e-Commerce

รวมถึงการปรับกลยุทธ์ NPD สินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม จัสต์ดริงก์ (just drink) จากนี้จะมีรสชาติใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ควบคู่กับการทำแคมเปญส่งเสริมการขาย โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาสร้างคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ตลอดจนการทำ cobrand กับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

ล่าสุดได้จับมือกับเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลอนช์ 2 เมนูพิซซ่าต้มยำกุ้งสาหร่ายเถ้าแก่น้อย และสปาเกตตีกุ้งสไปซี่สาหร่ายเถ้าแก่น้อย วางจำหน่ายถึงวันที่ 30 พ.ย. 64 ที่ร้านเดอะ พิซซ่า คอมปะนีทุกสาขา เพื่อกระตุ้นความสนใจและขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ

ขณะเดียวกัน ปี 2565 เตรียมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยปีนี้ได้ทดลองนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในฐานการผลิตที่โรงงานเถ้าแก่น้อย โรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น ส่วนโรงงานเถ้าแก่น้อย นพวงศ์ จ.ปทุมธานี จากเดิมเตรียมปิดโรงงาน ต้องปรับแผนงานใหม่ โดยปัจจุบันยังดำเนินการผลิตต่อไป โดยรวมแล้วอัตราการผลิตทั้ง 2 โรงงาน ลดลงอยู่ที่ 35%

ด้านตลาดต่างประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างประเทศจีนและสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนที่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเฉลี่ย 130-150 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานต่อจากนี้ แม้ว่าจะยังคงมีแรงถูกกดดันจากค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือรวมถึงราคาค่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการได้โดยมีการร่วมกับคู่ค้าในการวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) ชะลอตัวลง มีรายได้จากการขาย 2,533.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 97.7 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/64 (กรกฎาคม-กันยายน) มีรายได้จากการขาย 830.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19.3 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากในประเทศ 293.2 ล้านบาท ลดลง 8.3%

หลัก ๆ มาจากยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ นมพาสเจอไรซ์รสชานม และรสกาแฟลาเต้จัสต์ดริงก์ ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดเมื่อปลายปี 2563 และได้รับการตอบรับอย่างดีและขายได้กว่า 10 ล้านขวด ส่วนตลาดต่างประเทศมียอดขาย 537.5 ล้านบาท ลดลง 18% หลัก ๆ มาจากการปรับกลยุทธ์การทำตลาดในประเทศจีน ประกอบกับการมีตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม 1 ราย ทำให้สามารถกระจายสินค้าในช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดและอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยอดขายลดลงนั้นเป็นผลกระทบจากการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้มีต้นทุนเสียโอกาสในเรื่องยอดผลิตและยอดขายที่หายไปเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท รวมถึงมีค่าใช้จ่ายโรงงาน (factory overhead) ในการผลิตและบริหารเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในมาตรการป้องกันเชิงรุกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าภาพรวมผลการดำเนินงานจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงมาตรการสนับสนุนคนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น