“เมเจอร์” ลงทุนรับโรงหนังฟื้น ผุดสาขาเกาะค้าปลีก-เพิ่มดีกรีบุก ตปท.

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

“เมเจอร์” เดินหน้าแผนลงทุน รับคนดูหนังดีดกลับ-โรงหนังฟื้นตัว รีโนเวตเพิ่มควบเป็นพรีเมี่ยม สาขาในกรุงเทพฯ-หัวเมืองใหญ่ ตอบโจทย์เซ็กเมนต์ V.I.P. โตแรง พร้อมปูพรมบุกต่างจังหวัดต่อเนื่อง เน้นเกาะค้าปลีกยักษ์ “โลตัส-บิ๊กซี” ประกาศสร้างหนังไทยเจาะรายภาค อีสาน เหนือ ใต้ ขยายฐานผู้ชมกลุ่มต่างจังหวัด กางแผนเพิ่มโรง-สร้างคอนเทนต์ บุกกัมพูชา

ที่ผ่านมาผลพวงจากโควิดที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญภาวะจอมืดนานกว่า 150 วัน ทว่าการผ่อนคลายมาตรการที่มีมากขึ้นตามลำดับทั้งการเลิกเคอร์ฟิวในหลาย ๆ จังหวัด การเปิดประเทศ รวมถึงตัวเลขการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาใช้ชีวิตแบบเน็กต์นอร์มอล และเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ “การดูหนัง” ส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เริ่มขยับตัวกางแผนลงทุนครั้งใหญ่รอวันธุรกิจดีดกลับในปีหน้า

ตัวเลขคนดูหนังเริ่มดีดกลับ

นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดบริการได้ ส่งผลให้ทราฟฟิกประชาชนเริ่มกลับมาอยู่ที่ราว 80-90% แม้จะมีข้อจำกัดเปิดที่นั่งได้ 50-100% ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่ โดยหลังจากการยกเลิกเคอร์ฟิว (1 พ.ย.) ทำให้โรงหนังสามารถขยายรอบฉายได้มากขึ้นถึงวันละ 5-6 รอบ (09.00-22.00 น.) จากเดิมวันละ 2-3 รอบ รอบสุดท้ายไม่เกิน 20.00 น.

และตัวแปรสำคัญที่ช่วยดึงทราฟฟิกคนดูหนังกลับมา หลัก ๆ มาจากหนังฟอร์มยักษ์ทั้งไทย-เทศ ที่มีประมาณ 90 เรื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4-ต้นปี 2565 และที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่สามารถทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท เช่น ร่างทรง Eternals ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท เป็นต้น

ปัจจุบันธุรกิจเมเจอร์มีรายได้ 65% มาจากภาพยนตร์ อีก 25% จากป๊อปคอร์น และ 10% จากเม็ดเงินโฆษณา ดังนั้นยุทธศาสตร์หลักจะยังคงเป็นการดึงผู้บริโภคกลับสู่โรงภาพยนตร์ ภายใต้แนวคิด Content is the King โดยคีย์หลักจะอยู่ที่ความน่าสนใจของคอนเทนต์ โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ เอ็มพิคเจอร์ส บริษัทในเครือให้คัดสรรภาพยนตร์ที่ตอบโจทย์คนไทยหลากหลายแนวยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวสากลอย่างฮอลลีวูด มาร์เวลสตูดิโอ หรือคอนเทนต์เกาหลี ญี่ปุ่น จีน หรือกระทั่งอินเดีย

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าคอนเทนต์เจาะรายประเทศมีความนิยมในคนไทยสูงขึ้น ทำให้บางโรงภาพยนตร์ บางสาขาอาจมีการฉายคอนเทนต์เฉพาะแนวมากขึ้น เช่น สาขาเอกมัย มีโรงภาพยนตร์ฉายหนังอินเดียโดยเฉพาะ เป็นต้น

ผลิตหนังไทยเจาะท้องถิ่น

นอกจากนี้ เอ็มพิคเจอร์ส ยังจะเดินหน้าผลิตภาพยนตร์ไทยเฉลี่ยปีละ 20 เรื่อง เน้นคอนเทนต์ที่มีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น หรือทำภาพยนตร์เฉพาะภูมิภาค อาทิ เรื่องส้มป่อย เพื่อขยายฐานไปสู่กลุ่มผู้บริโภคต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วน กรุงเทพฯและปริมณฑล 50% และต่างจังหวัด 50% รวมทั้งพากย์เสียงเป็นภาษาท้องถิ่นทั้งภาษาอีสาน เหนือ ใต้ และกลาง หลังจากเริ่มทำมาได้รับผลตอบรับดีมากจากผู้บริโภคในต่างจังหวัด

“ที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยจะได้รับกระแสบวกจากกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่มีความเป็นท้องถิ่นนั้น ๆ สูง ขณะที่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลจะชื่นชอบภาพยนตร์ที่มีความเป็นสากลมากกว่า หรือหนังไทยแต่เป็นหนังฟอร์มยักษ์”

รีโนเวต กทม.-ปูพรมต่างจังหวัด

สำหรับแผนการลงทุนเปิดสาขาเพิ่ม ปี 2565 จะเป็นการลงทุนอย่างระมัดระวัง และไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพมากพอ โดยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะเน้นความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรีโนเวตโรงภาพยนตร์ระบบเทคโนโลยี GLS (GIANT LASER SCREEN) ที่ปัจจุบันมีกว่า 10 สาขา ผ่านการใช้เครื่องฉายดิจิทัลเลเซอร์ ความคมชัดสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มความสมจริงในการรับชมภาพยนตร์ โดยจะเริ่มที่สาขาเอ็มควอเทียร์ ไอคอนสยาม และสยามพารากอน

ขณะเดียวกันจะมีการทำโรงภาพยนตร์ V.I.P. มากขึ้นในเขตกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ จากปัจจุบันมี 15 สาขา โดยมีเลานจ์คล้ายโรงแรม มีหมอนและผ้าห่ม หรือกระทั่งห้องน้ำส่วนตัว เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายและบริการพรีเมี่ยม สอดรับกับผู้บริโภคเซ็กเมนต์ V.I.P. ที่มีการเติบโตสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ราคาตั๋วจะอยู่ที่ราว 700-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับสาขา

ส่วนการเปิดสาขาในตลาดต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง จะเน้นการวางแผนคุมงบประมาณขยายจอไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด เน้นทำเลศักยภาพสูง เกาะตามแลนด์ลอร์ดใหญ่ ๆ อย่าง บิ๊กซี และโลตัส เพื่อจับกลุ่มเซ็กเมนต์ผู้บริโภครอง ๆ ลงมา โดยตั้งเป้าเปิดประมาณ 20 สาขา

“เป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การปรับตัวไปสู่ Cashless Cinema ลดการสัมผัสเงินสด และการเผชิญหน้ากับพนักงาน เพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่ ปีนี้ตั้งใจทำในกรุงเทพฯปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ส่วนปีหน้าจะมุ่งไปที่สาขาในต่างจังหวัด ปัจจุบันบริษัทมีตู้ซื้อตั๋วภาพยนตร์อัตโนมัติอยู่ที่ราว 700-800 ตู้ ขณะเดียวกันจะส่งเสริมช่องทางขายออนไลน์ให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้นจากเดิมมีอยู่ราว 10%

ขณะนี้อยู่ที่ 20% ผ่านโปรโมชั่นที่มากขึ้น เพื่อทำให้กลุ่มผู้บริโภคเกิดการซื้อล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการขยายเมมเบอร์ MPASS บัตรดูภาพยนตร์รายเดือน เดือนละ 200 บาท ไปสู่ 5 แสนราย จากเดิมมีอยู่ 1.5 แสนราย เน้นเจาะไปที่สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย”

เพิ่มดีกรีบุกตลาดกัมพูชา

สำหรับตลาดต่างประเทศจะมีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากประเทศกัมพูชา ที่อยู่ในตลาดมาราว 6 ปี มี 5 สาขา ปี 2565 จะเพิ่มสาขาอีก 1-2 สาขา ประมาณ 20 จอ เนื่องจากภาพรวมตลาดโรงภาพยนตร์ในกัมพูชามีแนวโน้มการเติบโตสูงจากกลุ่ม Young Generation มีการรับชมภาพยนตร์มากขึ้น โดยทาร์เก็ตหลัก ๆ มีอายุระหว่าง 17-35 ปี ถึง 75%

โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง และมีรสนิยมคล้ายประเทศไทย ชื่นชอบการรับชมหนังสากลฟอร์มยักษ์ และภาพยนตร์ไทย โดยเมเจอร์ตั้งเป้าจะผลักดันคอนเทนต์ไทยไปสู่กลุ่มผู้บริโภคชาวกัมพูชามากขึ้น นอกจากนี้ยังได้หารือกับผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชา เพื่อจับมือสร้างภาพยนตร์ที่เป็นคอนเทนต์เจาะในประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะ

“ส่วนอีกธุรกิจ ป๊อปคอร์น ในช่วงที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์ถูกสั่งห้ามขายป๊อปคอร์น ทำให้ช่องทางดังกล่าวได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ก็ได้มีการปรับตัวด้วยการส่งป๊อปคอร์นขายตามรีเทล ซูเปอร์มาร์เก็ต และเปิดคีออสก์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 10-20% หรือประมาณเดือนละ 50 ล้านบาท อนาคตตั้งเป้าไว้เดือนละ 100 ล้านบาท และเมื่อภาพรวมโควิดดีขึ้นอาจส่งสินค้าไปเจาะตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง”